รายงานใหม่ของ UN เตือนว่า หากนานาชาติไม่ยกระดับมาตรการให้มากขึ้น โลกจะร้อนขึ้นถึง 3.1 องศาเซลเซียส ภายในศตวรรษนี้ เพราะความเปลี่ยนของสภาพอากาศ
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า องค์การสหประชาชาติ เผยแพร่รายงานช่องว่างการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emissions Gap report) ประจำปี 2567 ซึ่งนักวิทยาศาสตร์พบว่า นานาชาติยังคงบังคับใช้นโยบายเพียงที่มีอยู่ในปัจจุบัน โลกอาจจะร้อนขึ้นถึง 3.1 องศาเซลเซียสภายในศตวรรษนี้
UN ระบุว่า หากอุณหภูมิเพิ่มขึ้นในระดับดังกล่าว จะเป็นหายนะสำหรับโลก เนื่องจากมันจะทำให้เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วต่างๆ รวมถึง คลื่นความร้อน และน้ำท่วม เกิดบ่อยครั้งขึ้นอย่างมาก และการทำงานกลางแจ้งภายใต้ความร้อนระดับนี้ จะกลายเป็นเรื่องยากอย่างยิ่ง หรืออาจเป็นไปไม่ได้เลย
ตัวเลข 3.1 องศาเซลเซียสไม่ใช่เรื่องใหม่ UN เคยคาดการณ์เอาไว้แล้วตั้งแต่ที่การประชุม “ภาคีอนุสัญญาครั้งที่ 26” (COP26) ในกลาสโกว เมื่อ 3 ปีก่อน และรายงานฉบับล่าสุดก็เป็นการย้ำว่า มาตรการรับมือความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่มีอยู่ในปัจจุบัน แค่ช่วยคุมไม่ให้โลกร้อนขึ้นเกิน 3.1 องศาเซลเซียสภายในศตวรรษนี้เท่านั้น
การคาดการณ์ของสหประชาชาติ สอดคล้องกับรายงานของ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นมากสุดถึง 3.6 องศาเซลเซียสในศตวรรษนี้ หากระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มสูงขึ้นมากกว่านี้
รายงานของ UN ระบุด้วยว่า หากนานาชาติลงมือทำตามที่พวกเขาสัญญาในแผนการตัดลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนของพวกเขา อุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นประมาณ 2.6-2.8 องศาเซลเซียส
และหากทุกประเทศในโลกทำแผนการลดโลกร้อนมาปฏิบัติ และทำตามคำมั่นสัญญาที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือศูนย์สุทธิ อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นเพียง 1.9 องศาเซลเซียส แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่มีอะไรรับประกันได้เลยว่า พวกเขาจะทำได้อย่างที่พูด
...
นอกจากนั้น ต่อให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นมาเพียง 1.9 องศาเซลเซียส มันก็อาจก่อให้เกิดผลร้ายแรงตามมาได้ เพราะปัจจุบัน โลกของเราอุณหภูมิเพิ่มขึ้นมา 1.1 องศาเซลเซียสแล้วจนถึงตอนนี้ และเราก็สามารถรู้สึกถึงผลกระทบได้ในหลายระดับ เช่น สภาพอากาศเลวร้ายที่เกิดบ่อยขึ้น หรือ การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล
ทั้งนี้ สิ่งที่ทำให้สหประชาชาติกังวล ไม่ใช่ตัวเลขแนวโน้มอุณหภูมิ แต่เป็นนานาชาติที่เคยให้สัญญาในการประชุม COP27 และ COP28 แต่การปฏิบัติจริงกลับล่าช้ามาก
UN ยังเตือนด้วยว่า เป้าหมายของความตกลงปารีสที่ระบุว่า จะคงอุณหภูมิโลกยุคหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม ไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส และจะพยายามรักษาระดับให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างร้ายแรง ว่าจะทำไม่สำเร็จ
อนึ่ง รายงานฉบับล่าสุดของสหประชาชาติ ถูกเผยแพร่ออกเพียงไม่กี่สัปดาห์ ก่อนที่ผู้นำทางการเมืองของประเทศต่างๆ จะไปรวมตัวกันที่ประเทศอาเซอร์ไบจาน เพื่อร่วมการประชุมภาคีอนุสัญญาครั้งที่ 29 โดยหลายประเทศเห็นชอบว่าจะนำเสนอแผนการตัดลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่ครอบคลุมระยะเวลา 10 ปี จนถึงปี 2578 ก่อนฤดูร้อนครั้งถัดไป
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า หากนานาชาติไม่สามารถกดแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ลงมาได้ภายในปี 2578 จะมีโอกาสสูงมากที่อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นเกินกว่า 3 องศาเซลเซียส
รายงานล่าสุดของ UN ยังพบว่า มีปัจจัยจำนวนหนึ่งที่เป็นปัจจัยใหม่ และกำลังช่วยเพิ่มการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การบินที่บูมขึ้นมาในปี 2566 หลังการระบาดของโควิด-19 ผ่านพ้นไป ทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนจากภาคการบินเพิ่มขึ้นถึง 19.5% เมื่อเทียบกับปี 2565
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการสัญจรบนท้องถนนก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่มีปัจจัยสำคัญอื่นๆ เช่น อากาศที่ร้อนขึ้นทำให้ผู้คนหันมาใช้เครื่องปรับอากาศมากขึ้น
นอกจากนั้น การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานน้ำก็ลดลง และเปลี่ยนมาใช้ถ่านหินมากขึ้น ขณะที่การเปลี่ยนผ่านไปใช้รถยนต์หรือเครื่องทำความร้อนพลังงานไฟฟ้า ก็ทำให้การใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น ซึ่งไฟฟ้าส่วนใหญ่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิต
ติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreign
ที่มา : bbc