ในวันที่ 3 ของการเดินทางไปฝรั่งเศส กำหนดการของคณะผู้สื่อข่าวต่างชาติได้มีการเปลี่ยนตารางเล็กน้อย เนื่องด้วยมาตรการรักษาความปลอดภัยเตรียมต้อนรับผู้นำโลกมาร่วมการประชุมชาติใช้ภาษาฝรั่งเศส

จึงเป็นที่มาของการลัดเลาะจราจรที่ติดขัด พาเราไปใจกลางเมืองเพื่อเยี่ยมชม “พิพิธภัณฑ์น้ำหอม” Musee du Parfum (ซึ่งออกเสียงว่ามิวซี ดู ปักฟัง) ให้ได้ชื่อว่ามาไม่เสียเที่ยวการเยือนดินแดนแห่งน้ำหอม

โดยทางเจ้าหน้าที่กระทรวงได้จัดแจงการฟังบรรยายพิเศษ พาชมความเป็นมาของแบรนด์น้ำหอม “ฟราโกนา” (Fragonard) ที่มีต้นกำเนิดในเมืองกราซ ทางภาคใต้ ซึ่งความขลังของยี่ห้อนี้คือ ความภูมิใจในเรื่องการผลิตแบบออร์แกนิก ไม่มีสารสังเคราะห์เข้ามาเจือปน และเป็นน้ำหอมที่มีขายเฉพาะในฝรั่งเศส ไม่ส่งออกต่างแดน

ผู้บรรยายระบุว่า พื้นฐานแล้วในน้ำหอม 1 กลิ่น จะมีการผสมกลิ่นเข้าไป 3 ระดับ คือกลิ่นยืนพื้น (อย่างกลิ่นไม้ กลิ่นหวาน กลิ่นสมุนไพร) กลิ่นกลาง (อย่างกลิ่นของดอกไม้ ผลไม้ เครื่องเทศ) และกลิ่นปลาย (ซึ่งเป็นดอกไม้และผลไม้ที่ความหอมจะจางรวดเร็ว) ซึ่งส่วนผสมว่าจะเอาอะไรผสมกับอะไร ถือเป็น ความลับ ของนักปรุง

แถมบางครั้งปรุงไปแล้วพอเวลาผ่านไปกลิ่นกลับเปลี่ยน ไม่ได้ตามที่นึกไว้ เลยทำให้น้ำหอมกลิ่นๆหนึ่งต้องใช้เวลาในการรังสรรค์มากกว่า 1 เดือน หรือนานเกิน 1 ปี

นอกจากนี้ ผู้บรรยายยังไขข้อข้องใจอันยาวนาน (ที่จะเกิดขึ้นเวลาไปยืนงงซื้อให้มารดา) ว่าน้ำหอมแบ่งง่ายๆเป็น 3 เกรด ราคาแพงที่สุดเข้มข้นที่สุดจะเรียก “ปักฟัง” (Parfum หรือ Perfume) ความเข้มข้นของน้ำมันหอม 20-30% กลิ่นหอมติดนานทั้งวัน รองลงมาคือ “โอ เดอ ปักฟัง” (Eau de Parfum) ความเข้มข้นน้ำมันหอม 15-20% กลิ่นติดนาน 5-6 ชั่วโมง ตามด้วยสุดท้าย “โอ เดอ ทอยเล็ตต์” (Eau de Toilette-คำเดียวกับห้องน้ำ) ความเข้มข้นน้ำมันหอม 5-15% กลิ่นติดนาน 2-3 ชั่วโมง ซึ่งถือเป็นเกรดที่ยอดนิยม เพราะราคาย่อมเยาเข้าถึงง่าย

...

ส่วนเวลาพ่นแบบมาตรฐานคือ ผม ต้นคอ หลังใบหู 2 ด้าน หน้าอก ข้อมือ (พ่นแล้วห้ามเอามือถูเพราะน้ำหอมแพ้การเสียดสี) หรือจะพ่นข้อเท้าด้วยสำหรับสุภาพสตรีที่ต้องการให้กลิ่นสะบัดตามความพลิ้วของกระโปรง...เท่านี้ก็ไม่ต้องกังวลเวลากอดทักทายใคร แถมอาจสร้างความประทับใจเสียด้วยซ้ำ.

ตุ๊ ปากเกร็ด

คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม