เฮติตั้งอยู่ในหมู่เกาะเวสต์อินดีส ทะเลแคริบเบียน ครอบคลุมพื้นที่ 1 ใน 3 ทางทิศตะวันตกของเกาะฮิสปันโยลา สมัยก่อนตอนโน้นคนแถบนี้มีความเชื่อของตนเอง และมีชีวิตอย่างสุขสงบ เป็นพวกที่รักสันติ เรียกตัวเองว่าไตโนที่แปลว่าคนดี เรียกเกาะที่ตัวเองอาศัยอยู่ว่าไอยิติที่แปลว่าดินแดนแห่งภูเขาสูง
คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส เป็นชาวตะวันตกคนแรกที่แล่นเรือมาถึงเกาะนี้ มาถึงปุ๊บก็อ้างสิทธิปั๊บ ว่าเกาะนี้เป็นของสเปน จากนั้นก็เอาพวกมิชชันนารีของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกเข้ามา เมื่อคณะบาทหลวงเข้ามาแล้วก็ไปดึงพวกผิวขาวจากยุโรปเข้ามา พวกนี้ชอบล่าหมูป่า ยิงนก และล่าสัตว์ทุกประเภท
พวกสเปนใช้คนพื้นเมืองเป็นลูกทีมในการออกไปล่าสัตว์ ส่วนใหญ่ล่าเพื่อเป็นกีฬาแข่งขันว่าใครได้สัตว์มากกว่ากัน ทำให้คนพื้นเมืองค่อยๆสะสมวิธีใช้ความรุนแรง แรกๆ ก็ใช้ความรุนแรงกับสัตว์ ต่อมาก็เขยิบมาใช้กับคน
ต่อมาสเปนยกพื้นที่ส่วนตะวันตกของเกาะฮิสปันโยลาให้ฝรั่งเศส ฝรั่งเศสเรียกพื้นที่ส่วนของตัวเองว่าแซ็ง-โดแม็งก์ ซึ่งปัจจุบันก็คือเฮติ ส่วนทางตะวันออกของเกาะยังเป็นของสเปน ที่เรียกว่าซานโตโดมิงโก ซึ่งปัจจุบันก็คือสาธารณรัฐโดมินิกัน
เมื่อพูดถึงเฮติ คนจำนวนไม่น้อยจะนึกถึงการที่คนประเทศนี้มักใช้ความรุนแรงทั้งกับคนและสัตว์ อยู่กันเป็นกลุ่มเป็นแก๊งเหมือนในฟิลิปปินส์และอาร์เจนตินา พวกผิวขาวใช้ศาสนาเข้ามาเจาะเพื่อครอบครองที่ดินของคนพื้นเมือง และทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ เช่น ทองคำ ส่วนคนพื้นเมืองสูญเสียที่ดินไปเรื่อยๆจนต้องอยู่กันอย่างแออัดยัดเยียด แย่งกันกิน แย่งกันใช้ ใครอยากสบายก็ต้องไปประจบโบสถ์
จากคนที่รักสงบ สันติ ก็กลายมาต้องอยู่เป็นกลุ่ม ทุกคนต้องเชื่อหัวหน้ากลุ่ม หัวหน้ากลุ่มสั่งให้ทำอะไรก็ต้องทำ เมื่อไม่นานมานี้ นายลัคสัน เอลัน หัวหน้ากลุ่มแกรนกริฟ สั่งให้มีการตั้งด่านเตี้ย เพื่อเก็บเงินรถโดยสารที่ผ่านทางในเมืองปงต์-ซงเด
...
รถโดยสารบางคันไม่ยอมจ่ายค่าผ่านทาง หัวหน้ากลุ่มเอลันจึงสั่งให้ลูกน้องยิงคนในเมืองนี้ นายเอลันหัวหน้ากลุ่มจึงสั่งให้ไล่ยิงคนในช่วงเช้าของวันพฤหัสบดี 3 ตุลาคม 2024 เพียงเช้าเดียวมีคนตายไป 70 คน ที่เหลือก็หนีไปอยู่เมืองใกล้เคียง
องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) บอกว่าที่หนีไปอยู่เมืองอื่นมีอยู่ 6,270 คน ส่วนบ้านและยานพาหนะที่อยู่ในเมืองปงต์-ซงเดก็โดนเผาทิ้ง
ใครที่ชอบอ่านวรรณกรรมสมัยก่อน เมื่อนักประพันธ์เขียนถึงเฮติก็จะพูดถึงดินแดนสวรรค์อันสวยงาม อากาศดี มีน้ำทะเลใสสะอาด หาดทรายงาม แต่หลังจากที่เกิดภาวะโลกร้อน ทำให้เฮติประสบภัยธรรมชาติบ่อยครั้ง ความที่ประชาชนถางป่าเหี้ยนเตียนโล่งเพื่อทำการเกษตร โดยเฉพาะเกษตรแปลงใหญ่ของชาวผิวขาว (ในอดีต) ถึงคราวน้ำท่วมก็ท่วมรุนแรง ถึงคราวแล้งก็แล้งนาน
ระหว่างเดือนมิถุนายน-ตุลาคม เฮติมักเจอพายุเฮอริเคน เท่านั้นยังไม่พอ ยังมีแผ่นดินไหวบ่อย แผ่นดินไหวแต่ละครั้ง คนตายจำนวนมาก อย่างเช่นเมื่อ 12 มกราคม 2010 มีแผ่นดินไหวที่กรุงปอร์โตแปรงซ์ มีรายงานว่าคนตายไป 2.5 แสน บาดเจ็บ 3 แสน ไร้ที่อยู่อาศัยอีก 1 ล้าน
ที่แย่ที่สุดในเฮติก็คือการเมือง ความที่อยู่กันเป็นกลุ่มก็มักจะมีระบบการเมืองแบบ ‘บ้านใหญ่’ การเมืองแบบบ้านใหญ่เป็นเรื่องของผู้มีอิทธิพล เข้ามาแล้วก็กอบโกย ได้เงินแล้วก็นำไปฝากหรือลงทุนในต่างประเทศ ลงจากการเมืองแล้วก็มีชีวิตหรูหราหมาเห่า พาครอบครัวอพยพไปเป็นเศรษฐีในต่างประเทศ
จากสาธารณรัฐที่เคยมั่งคั่งร่ำรวยจากอุตสาหกรรมน้ำตาล กาแฟ และคราม เฮติกลายเป็นประเทศยากจนที่สุดในทวีปอเมริกา ปัจจุบัน คนเฮติจำนวนไม่น้อยพยายามวิ่งเข้าไปซุกกลุ่มเพื่อความอยู่รอดและความปลอดภัยของตนเองและครอบครัว คนไหนได้กลุ่มดี มีอิทธิพลแข็งแรงก็จะมีมือยาวที่สาวความมั่งคั่งมาครอบครองได้ง่าย.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com
คลิกอ่านคอลัมน์ “เปิดฟ้าส่องโลก” เพิ่มเติม