นักวิทยาศาสตร์ในสกอตแลนด์เผยว่า ดาวเคราะห์น้อยที่พุ่งชนโลก จนทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์นั้น ไม่ได้มาแค่ดวงเดียว แต่มาถึง 2 ดวง
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ออกมายืนยันว่า ดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่ที่พุ่งชนโลกจนทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปเมื่อ 66 ล้านปีก่อน ไม่ได้มาแค่ดวงเดียว แต่มีดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กกว่าอีกดวง พุ่งตกลงในทะเลนอกชายฝั่งของแอฟริกาตะวันตกในยุคเดียวกันด้วย จนทำให้เกิดเหตุหลุมขนาดใหญ่ที่ได้รับชื่อว่า “นาเดียร์”
นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า การตกของดาวเคราะห์น้อยดวงที่ 2 คือมหันตภัย มันทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิสูงอย่างน้อย 800 เมตร กระจายไปทั่วมหาสมุทรแอตแลนติก
ดร.ยูอิสดีน นิโคลสัน จากมหาวิทยาลัย แฮเรียต-วัตต์ ในสกอตแลนด์ เป็นคนแรกที่พบ “แอ่งนาเดียร์” (Nadir crater) เมื่อปี 2565 ซึ่งตอนนั้นเขายังไม่รู้ว่า มันเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ตอนนี้ ดร.นิโคลสันกับเพื่อนร่วมงานของเขามั่นใจแล้วว่า รอยยุบกว่า 9 กิโลเมตรแห่งนี้ มีสาเหตุจากดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนก้นทะเล
พวกเขายังไม่สามารถระบุเวลาที่แน่นอนได้ว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อไร หรือว่าดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มาก่อนหรือหลังจากการพุ่งชนโลกของดาวเคราะห์น้อยขนาดยักษ์ ซึ่งทำให้เกิด “แอ่งชิกซูลับ” (Chicxulub crater) ขนาด 180 กิโลเมตรในเม็กซิโก และทำให้ยุคสมัยของไดโนเสาร์ต้องจบลง
อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กกว่านี้ มาในช่วงสุดท้ายของยุคครีเตเชีนสเช่นเดียวกัน และการตกลงมาของมันจะทำให้มันกลายเป็นลูกไฟขนาดมหึมา
“ลองจินตนาการว่า ดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนที่กลาสโกว์ แล้วคุณอยู่ที่เอดินบะระ ห่างไปประมาณ 50 กม. ลูกไฟนี้จะใหญ่กว่าขนาดของดวงอาทิตย์บนท้องฟ้าถึง 24 เท่า รุนแรงพอทำให้ต้นไม้ในเอดินบะระเกิดไฟลุกไหม้” ดร.นิโคลสันกล่าว และเสริมว่า สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้นคือเสียงดังสนั่นหวั่นไหว ก่อนจะเกิดแรงกระแทกเท่าแผ่นดินไหวระดับ 7 แมกนิจูด
...
น้ำจำนวนมหาศาลจะกระจายออกจากพื้นที่ก้นทะเล ก่อนจะกลับไปรวมตัวกันใหม่ ทำให้เกิดรอยที่เป็นเอกลักษณ์อยู่บนพื้นมหาสมุทร
การที่ดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่แบบนี้ จะพุ่งเข้าใกล้ดาวเคราะห์ของเราอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาสั้นๆ ถือเป็นเรื่องที่ไม่ปกติอยู่แล้ว และทีมงานของ ดร.นิโคลสันไม่รู้ว่าทำไมมันถึงพุ่งชนโลกถึง 2 ดวง
อนึ่ง นักวิทยาศาสตร์คาดว่า ดาวเคราะห์น้อยที่ทำให้เกิดแอ่งนาเดียร์ มีขนาดกว้างราว 450-500 ม. และพุ่งชนโลกด้วยความเร็วประมาณ 72,000 กม./ชม. ใกล้เคียงกับดาวเคราะห์น้อย “เบนนู” ซึ่งเป็นวัตถุโคจรใกล้โลกที่อาจทำให้เกิดอันตรายต่อโลกมากที่สุดเท่าที่พบในขณะนี้
องค์การนาซาประเมินว่า หากเบนนูจะพุ่งชนโลกจริงๆ มันจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 ก.ย. ปี พ.ศ. 2725 แต่โอกาสที่จะเกิดขึ้นอยู่ที่ประมาณ 1 ใน 2,700 ส่วน
ติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreign
ที่มา : bbc