เมื่อ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ ของจีนได้เริ่มสอบสวนบริษัท “พีวีเอช” (PVH) บริษัทแม่ของแบรนด์แฟชั่นชื่อดังสัญชาติอเมริกันอย่าง “คาลวิน ไคลน์” (Calvin Klein) และ “ทอมมี ฮิลฟิเกอร์” (Tommy Hilfiger) จากข้อสงสัยว่าใช้มาตรการเลือกปฏิบัติ ปฏิเสธการใช้ฝ้ายและผลิตภัณฑ์อื่นๆที่มาจากเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ทางตะวันตกของจีนอย่างไม่มีมูลความจริง ซึ่งทางการจีนให้เวลา 30 วัน ในการยื่นเอกสารชี้แจงต่อกรณีดังกล่าว ไม่เช่นนั้นอาจถูกขึ้นบัญชีรายชื่อบริษัทที่ไม่น่าไว้วางใจและเป็นภัยคุกคามต่อบริษัทจีน หรืออาจถูกคว่ำบาตรจากจีนได้
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ของจีนให้เหตุผล ว่า การปฏิเสธไม่ใช้ฝ้ายจากซินเจียงเป็นการบ่อนทำลายสิทธิอันชอบธรรมและผลประโยชน์ของบริษัทจีนอย่างรุนแรง รวมถึงทำลายอธิปไตย ความมั่นคงและผลประโยชน์ในการพัฒนาของจีน พร้อมย้ำว่าองค์กรต่างชาติที่ทำตามกฎอยู่แล้ว ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกขึ้นบัญชีองค์กรที่ไม่น่าไว้วางใจจากจีน
ขณะที่บริษัทพีวีเอชเผยต่อกรณีนี้ว่า บริษัทปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับในทุกประเทศและภูมิภาคอย่างเคร่งครัด และได้ติดต่อกับทางการจีนแล้ว ด้านสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นของสหรัฐฯ ชี้ว่า หากบริษัทนี้ถูกแบน ในจีนอาจเป็นเรื่องใหญ่ ดังจะเห็นได้จากรายงานประจำปี 2566 ของพีวีเอชระบุว่าจีนถือเป็นส่วนสำคัญในการเติบโตของธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งสร้างความเติบโตในสกุลเงินท้องถิ่นมากกว่า 20% ของปีนี้ รวมทั้งยังมีเป้าหมายสร้างการรับรู้ของแบรนด์ในจีนโดยเฉพาะ ทั้ง Calvin Klein และ Tommy Hilfiger ซึ่งยังไม่สามารถเจาะตลาดในจีนได้มากนัก
การแบนสินค้านำเข้าจากซินเจียงไม่ใช่เรื่องใหม่ นสพ.นิวยอร์กไทม์สของสหรัฐฯ เผยว่า กลุ่มผู้บริโภคและองค์กรสิทธิมนุษยชนใน สหรัฐฯ และชาติตะวันตกเริ่มบอยคอตแบรนด์เสื้อผ้าที่ใช้ฝ้ายจากซินเจียงมาหลายปี โดยชี้ว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้มาจากการกดขี่แรงงานชาวอุยกูร์ซึ่งเป็นชาวมุสลิมในซินเจียง และเมื่อเดือน ก.ค.2563 พีวีเอชก็เคยประกาศจะหยุดทำธุรกิจกับบริษัทและโรงงานที่ผลิตผ้าหรือฝ้ายในพื้นที่นี้ทั้งหมดในอีก 12 เดือนข้างหน้า
...
อีกทั้งในเดือน มิ.ย.2565 รัฐบาลสหรัฐฯ บังคับใช้กฎหมายป้องกันการบังคับใช้แรงงานชาว อุยกูร์ แบนการนำเข้าสินค้าใดๆจากซินเจียง จนกว่าจะพิสูจน์กับเจ้าหน้าที่ศุลกากรของสหรัฐฯ ได้ว่าไม่ได้มาจากแรงงานที่ถูกกดขี่ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่สามารถพิสูจน์ได้ถ่องแท้ว่าข้อกล่าวหานี้จริงหรือไม่ เพราะรัฐบาลจีนไม่อนุญาตให้หน่วยงานอิสระเข้ามาตรวจสอบกิจการภายใน.
ญาทิตา เอราวรรณ
คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม