‘ศรีชยวรธนปุรโกตเต’ เป็นศูนย์กลางด้านนิติบัญญัติและตุลาการของศรีลังกา ตอนใต้ของแม่น้ำเกลานิเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงที่มีชื่อ ‘กรุงโคลัมโบ’ สมัยก่อนตอนที่ผมยังเด็ก มีคนอายุ 60 กว่าปี มาเยี่ยมพ่อที่บ้าน แนะนำตนเองว่าเป็นนักเรียนทุนโคลัมโบแพลน
พ่อเล่าให้ผมฟังว่า อ้า โคลัมโบแพลนคือ Colombo Plan for Co-Operative Economic Development in South and South-East Asia ความมุ่งหวังตั้งใจในการก่อตั้งก็เพื่อความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของคนในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ตอนหลังมีสมาชิกเพิ่มจึงขยายเป็นความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในทวีปเอเชียและแปซิฟิก แผนการโคลัมโบหรือโคลัมโบแพลนมีชื่อย่อว่า C-Plan (ซีแพลน) พ่อเคยบอกว่า วัตถุประสงค์ที่เขียนไว้ดูหรูหราหมาเห่า แต่ในความเป็นจริงก็คือ ‘การป้องกันลัทธิคอมมิวนิสต์’
ค.ศ.1949 จีนเป็นคอมมิวนิสต์ โอย แทบทุกตรอกซอกมุมของโลกกลัวการเปลี่ยนแปลงเป็นคอมมิวนิสต์ ค.ศ.1950 ผู้นำอินเดีย ปากีสถาน ซีลอน (ศรีลังกา) ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ มาสุมหัวกันที่กรุงโคลัมโบ แล้วบอกว่า อ้า เราต้องพัฒนาเศรษฐกิจในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อไม่ให้คอมมิวนิสต์รื่นรมย์สมอุรา ชื่นตาฟ้าเบิกบาน
ทันทีที่ได้ยินคำว่ารื่นรมย์สมอุรา ชื่นตาฟ้าเบิกบาน สหรัฐฯกับญี่ปุ่นบอกว่า อ้า ไพเราะดี เราขอร่วมด้วย ทุกประเทศที่ผมเอ่ยชื่อ ไปแล้วก็โยนสตางค์ลงกระป๋องดังช้องแช้งๆ แล้วก็ตั้งสำนักงานเลขาธิการของซีแพลนที่กรุงโคลัมโบ เมื่อสตางค์ไม่พอก็ไปดึงเงินมาจากโครงการทวิภาคีระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล เมื่อสตางค์ยังไม่พออีกก็ไปขอการสนับสนุนจากธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนา
...
นักเรียนทุนโคลัมโบโก้เก๋เท่ไม่หยอกบอกไม่ถูก กลับไปต่างจังหวัดผู้คนยกย่องสรรเสริญเยินยอปอปั้นเพราะรู้ว่าต่อไปในอนาคต พวกนี้เป็นผู้ใหญ่แน่นอน ทุกทีที่มีการสอบชิงทุนโคลัมโบ จึงมีคนมาแย่งกันถึงขนาดเดินชนกันตายหลายศพหน้าห้องสอบ
แผนการโคลัมโบตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อ 1 กรกฎาคม ค.ศ.1951 จนถึงวันนี้ก็นานกว่า 73 ปี ฮ่าๆ ถ้าอยากจะรู้ว่า การป้องกันคอมมิวนิสต์แผนการโคลัมโบมีประสิทธิภาพแค่ไหน ให้ดูพรรคที่ชนะเลือกตั้งในศรีลังกา
เสาร์ 21 กันยายน 2024 มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีศรีลังกา ผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงจากคนซีลอนอย่างนำโด่งคือนายอนุรา กุมารา ดิสซานายาเก จากพรรค People’s Liberation Front หรือพรรคแนวหน้าปลดปล่อยของประชาชน ซึ่งเป็นพรรคคอมมิวนิสต์สายมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์
คอมมิวนิสต์มาร์กซิสต์แบ่งใหญ่ๆ ได้ 2 สาย คือ ก)มาร์กซิสต์-เลนินนิสต์ จากมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์ก็แบ่งได้อีก 3 สายคือ สายมาร์กซิสต์-สตาลินิสต์ สายเหมาอิสต์ และสายคอมมิวนิสต์ทุนนิยม และ ข) จูเช คือสายสืบทอดตระกูลแบบเกาหลีเหนือ
ผู้นำศรีลังกาในอดีตมักจะมาจากครอบครัวมีอันจะกิน เป็นตระกูล เก่าแก่ ทว่าประธานาธิบดีคนใหม่เอี่ยมอ่องของศรีลังกามีพ่อเป็นกรรมกร แม่เป็นแม่บ้าน เกิดในหมู่บ้านในชนบทห่างไกลในเมืองอนุราทปุระ
แม้ว่าจะมีอายุเพียง 55 ปี แต่ดิสซานายาเกก็มุ่งมั่นในการที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำของประเทศ แกเคยสมัครประธานาธิบดีตอนอายุ 51 ปี (ค.ศ.2019) ทว่าได้คะแนนเพียงร้อยละ 3 ของผู้ลงคะแนนทั้งหมด แม้ว่าจะได้คะแนนเพียงน้อยนิดกระจิดริดกระจ้อยร่อย แต่ดิสซานายาเกก็ยังเดินหน้าหาเสียงต่อไปไม่หยุดยั้ง
ตอนที่ราชปักษาผู้น้องซึ่งสนิทสนมกับทางรัสเซียสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อ ค.ศ.2019 ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิธณัฐ มิ่งรุจิราลัย ไปเยือนการหาเสียงในมากมายหลายเมือง เมื่อราชปักษาผู้น้องชนะเลือกตั้ง ทางสหรัฐฯและอินเดียก็ไม่ยอม จนเกิดความวุ่นวายขายปลาช่อนจนต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ
สายรัสเซียและจีนกลับมาแล้วครับ คราวนี้ประชาชนคนศรีลังกา ให้ความไว้วางใจอย่างเต็มที่ ส่วนประเทศที่หอย เอ้ย หงอย ก็คือสหรัฐฯและอินเดีย.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com