จีนจะเริ่มกลับมานำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นอีกครั้ง หลังจากสั่งแบนการนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นทั้งหมดเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว เนื่องมาจากการปล่อยน้ำทิ้งจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ

ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าววันนี้ (20 ก.ย.) ว่าจีนจะทบทวนการห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นอีกครั้ง และดำเนินการเพื่อกลับมานำเข้าอีกครั้ง หลังจากขยายขอบเขตการเฝ้าระวังน้ำเสียจากกัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ 

จีนได้ห้ามการซื้ออาหารทะเลจากญี่ปุ่น โดยอ้างถึงความเสี่ยงของการปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี หลังจากที่บริษัทโตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ หรือ เทปโก เริ่มปล่อยน้ำที่ผ่านการบำบัดจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะที่พังถล่มลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกเมื่อปีที่แล้ว

คิชิดะกล่าวกับผู้สื่อข่าวที่กรุงโตเกียวว่า "เราพร้อมที่จะดำเนินการเฝ้าระวังน้ำที่ผ่านการบำบัดเพิ่มเติม และจีนกล่าวว่าจะเริ่มทบทวนข้อจำกัดการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารทะเลของญี่ปุ่นอีกครั้ง และจะเพิ่มปริมาณการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่ตรงตามมาตรฐานของจีนอย่างต่อเนื่อง" 

คิชิดะกล่าวเสริมว่า เกณฑ์ของจีนที่ผลิตภัณฑ์ของญี่ปุ่นต้องปฏิบัติตามนั้น ไม่ได้กำหนดเป้าหมายไปที่ประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ใช้กับการนำเข้าทั้งหมด ญี่ปุ่นยืนยันว่าการปล่อยน้ำดังกล่าวมีความปลอดภัย โดยสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ได้สรุปว่า ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อมนั้นไม่ร้ายแรง

ด้านกระทรวงต่างประเทศของจีนกล่าววันนี้ว่า จะยังคงหารือกับญี่ปุ่นเกี่ยวกับการจัดการการปล่อยน้ำกัมมันตภาพรังสีดังกล่าวต่อไป โดยโฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีนกล่าวในการแถลงข่าวว่า จีนเรียกร้องให้ญี่ปุ่นจัดการกับความกังวลอย่างเหมาะสม และการคัดค้านการปล่อยน้ำปนเปื้อนของญี่ปุ่นยังคงเหมือนเดิม

...

ก่อนคำสั่งแบน จีนเป็นตลาดการส่งออกอาหารทะเลของญี่ปุ่นที่ใหญ่ที่สุด การส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ป่าไม้ และประมงของญี่ปุ่น ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งได้รับผลกระทบจากการสั่งห้ามของจีน

ฮิโรยูกิ นามาสึ เจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่น กล่าวในการแถลงข่าวหลังการประกาศของนายคิชิดะว่า ญี่ปุ่นยังคงยืนกรานว่าจะต้องยกเลิกการแบนในทันที เขากล่าวเสริมว่า ยังไม่มีการกำหนดวันหรือกรอบเวลาที่ชัดเจนว่าข้อจำกัดเหล่านี้จะถูกยกเลิกเมื่อใด หรือจะมีขั้นตอนใดบ้างที่จะดำเนินการดังกล่าวได้

ญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำกัมมันตภาพรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วมากกว่าหนึ่งล้านเมตริกตันจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ในปี 2566 ซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้เวลานานหลายสิบปีจึงจะแล้วเสร็จ ส่งผลให้เกิดข้อโต้แย้งทางการทูตกับจีน น้ำดังกล่าวถูกนำไปกลั่น หลังจากปนเปื้อนจากการสัมผัสกับแท่งเชื้อเพลิงในเครื่องปฏิกรณ์ ซึ่งได้รับความเสียหายอย่างหนักในเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิในปี 2554.

ที่มา Reuters

อ่านข่าวเพิ่มเติม https://www.thairath.co.th/news/foreign