อดีต ผอ.ทีมฝ่ายวิทยาศาสตร์ของโอเชียนเกท เผยว่า ยานดำน้ำไททัน เกิดการขัดข้องก่อนถึงวันเดินทางชมซากเรือไททานิก ซึ่งสุดท้ายยานระเบิดใต้น้ำเพียงไม่กี่วัน

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ดร.สตีเฟน รอส อดีตผู้อำนวยการฝ่ายวิทยาศาสตร์ของบริษัท “โอเชียนเกท” (OceanGate) ให้การเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 ก.ย. 2567 ว่า ยานดำน้ำ “ไททัน” ซึ่งระเบิดระหว่างดำน้ำลงไปดูซากเรือไททานิก จนทำให้ผู้โดยสารทั้ง 5 คนเสียชีวิตนั้น เกิดปัญหาขัดข้างก่อนออกเดินทางเพียงไม่กี่วัน

ทั้งนี้ ยานดำน้ำไททันเกิดการระเบิดแบบยุบตัวเข้าสู่ภายใน (implosion) ระหว่างพาผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วมา ดำน้ำลงไปชมซากเรือไททานิก ในมหาสมุทรแอตแลนติก เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2566 ทำให้ผู้โดยสารทั้ง 5 คนเสียชีวิตในทันที โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดการระเบิดคาดว่าเป็นเพราะ ความล้มเหลวของตัวเรือต้านทานแรงกด ((pressure hull)) ที่ไม่อาจทนแรงกดดันใต้มหาสมุทรได้

ผู้เสียชีวิตทั้ง 5 ราย ได้แก่ นายชาห์ซาดา ดาวู้ด นักธุรกิจชาวปากีสถาน กับลูกชายชื่อ ซูเลมาน, นายฮามิช ฮาร์ดิง อดีตนักบินชาวอังกฤษ, นายปอล-อองรี นาร์โกเลต์ อดีตผู้การกองทัพเรือฝรั่งเศส และนายสตอกตัน รัช ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของบริษัท โอเชียนเกท

ดร.รอส เป็นหนึ่งในผู้โดยสารที่เดินทางไปกับยานไททัน ในการดำน้ำครั้งที่ 87 (Dive 87) ของภารกิจที่ 4 เมื่อ 12 มิ.ย. 2566 หรือ 6 วันก่อนเกิดเหตุ ให้การว่า เกิดเหตุขัดข้องขึ้นระหว่างดำน้ำ ทำให้ผู้โดยสารทั้ง 5 คนในการเดินทางครั้งนั้น กลิ้งไปกองอยู่ท้ายยาน และยานขึ้นจากน้ำไม่ได้เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมง กว่าที่ทีมสนับสนุนต้องมาช่วยนำยานขึ้นจากน้ำ

ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่ยานกำลังลอยตัวกลับขึ้นสู่ผิวน้ำ แต่เกิดเหตุขัดข้องกับแทงก์ถ่วงน้ำหนัก ซึ่งควบคุมการลอยตัวของยานดำน้ำลำนี้ ส่งผลให้ยานเอียง 45 องศา หัวเรือเชิดขึ้นด้านบน

...

ดร.รอสเผยอีกว่า นาย สตอกตัน รัช ซึ่งเป็นคนขับยานไททันในการเดินทางรอบนี้ กลิ้งไปชนกับผนังท้ายยาน ผู้โดยสารคนอื่นกลิ้งไปมา คนหนึ่งถูกแขวนกลับหัวกลับหาง ตัวเขาไปยืนอยู่บนพนังท้ายยาน ส่วนอีก 2 คน สามารถทรงตัวอยู่บริเวณหัวเรือได้ ซึ่งเคราะห์ดีที่ไม่มีใครบาดเจ็บ

“มันเป็นประสบการณ์ที่ไม่สะดวกสบายและไม่น่าอภิรมณ์ และใช้เวลานานในการแก้ปัญหา” ดร.รอสกล่าว และเสริมว่า เขาไม่รู้ว่าเจ้าหน้าที่ได้มีการตรวจสอบตัวยานก่อนเริ่มทำภารกิจหรือไม่ แต่เขารู้ว่า ยานไททันไม่ได้รับการตรวจสอบโดยหน่วยยามฝั่งของสหรัฐฯ เลยไม่ว่าจะในปี 2564, 2565 หรือ 2566

ดร.รอสยังพูดถึง 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างการดำน้ำของยานไททันในปี 2565 รวมถึงเหตุการณ์ในการดำครั้งที่ 80 ซึ่งเกิดเสียงดังขณะที่ยานกำลังลอยกลับสู่ผิวน้ำ ซึ่งอาจเกิดจาก การเคลื่อนตัวของโครงเหล็กของตัวเรือต้านทานแรงกด

ส่วนในการดำครั้งที่ 81 เกิดความขัดข้องขึ้นที่ทรัสเตอร์ การควบคุมหนึ่งในทรัสเตอร์ขับไปในทางตรงกันข้ามกับปุ่มที่กด ทำให้นายสกอต กริฟฟิธ คนขับยายในตอนนั้น ต้องควบคุมเรือในสภาพดังกล่าว

ก่อนจะเริ่มภารกิจที่ 4 ในปี 2566 ดร.รอสระบุว่า เขาได้ข่าวว่ายานดำน้ำลำนี้ ชนกับสิ่งกีดขวางบางอย่างขณะถูกลากจูงในเวลากลางคืน โดยเจ้าหน้าที่ทึกทักเอาเองว่า มันคืออุปกรณ์ประมงที่ถูกทิ้งเอาไว้ และไม่มีการหาข้อสรุปว่ามันคืออะไรกันแน่ และเขาไม่ร็ด้วยว่า เกิดความเสียหายใดๆ จากเหตุการณ์นี้หรือไม่

ติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreign

ที่มา : cnn