- เกาหลีใต้กำลังเผชิญกับวิกฤติ Deepfake ครั้งใหญ่ เมื่อผู้หญิงและเยาวชนต้องตกเป็นเหยื่อของกลุ่มคนที่แสวงหาผลประโยชน์จากผู้หญิง นำภาพถ่ายใบหน้าของพวกเธอไปตัดต่อกับภาพหรือคลิปนาจาร โดยไม่ได้รับความยินยอมจนนำไปสู่ความอับอายและสร้างตราบาปในใจ
- จากข้อมูลของตำรวจเกาหลีใต้พบว่าดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิดยังต่ำมาก โดยระหว่างปี 2021 ถึงเดือนกรกฎาคมปีนี้ มีรายงานอาชญากรรม Deepfake รวม 793 คดี แต่มีเพียง 16 คนเท่านั้นที่ถูกจับกุมและดำเนินคดี ขณะที่ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมามีการแจ้งเคสเพิ่มมาอีกถึง 118 เคสภายในระยะเวลาเพียง 5 วันเท่านั้น
- แอปพลิเคชั่นห้องแชต Telegram ที่ผู้ใช้รวมกว่า 220,000 คน กลายเป็นช่องทางสำคัญที่ทำให้ภาพอนาจารเหล่านี้ถูกแชร์ต่อเป็นวงกว้างโดยเพียงแค่นำไฟล์รูปผู้หญิงลงไปในห้องแช็ต AI ในห้องนั้นก็จะสร้างสื่ออนาจารต่างๆโดยใช้ใบหน้าของหญิงสาวเหล่านั้นได้ในพริบตา สะท้อนด้านมืดของการใช้เอไอให้ทั่วโลกได้ตระหนักอีกครั้ง
Deepfake-Telegram ตัวการสร้างความอับอาย
นักเรียน นักศึกษา รวมทั้งครูอาจารย์ผู้หญิง ที่อยู่ในสถาบันการศึกษาทั้งโรงเรียนมัธยมต้น มัธยมปลาย และมหาวิทยาลัยชื่อดังหลายร้อยสถาบันในเกาหลีใต้กำลังตกเป็นเป้า จากการใช้เทคโนโลยี deepfake โดยฝีมือของคนใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนนักเรียนชาย และแม้กระทั่งครูผู้ชายแอบถ่ายรูป หรือเซพรูปจากโซเชียลมีเดีย เพื่อนำไปตัดต่อกับภาพและคลิปอนาจารด้วยเทคโนโลยี Deepfake ใน Telegram จนผู้หญิงต่างไม่กล้าที่จะโพสต์ภาพเซลฟี่ของตัวเองลงโซเชียลมีเดีย และบางคนก็ถึงกับปิดกั้นสิทธิการเข้าถึง หรือลบรูปออกไปจากระบบด้วยความกลัว
...
โดยแอฟพลิเคชั่นห้องแชต Telegram ที่ผู้ใช้รวมกว่า 220,000 คน กลายเป็นช่องทางสำคัญที่ทำให้ภาพอนาจารเหล่านี้ถูกแชร์ต่อเป็นวงกว้างโดยเพียงแค่นำไฟล์รูปผู้หญิงลงไปในห้องแช็ต AI ในห้องนั้นก็จะสร้างสื่ออนาจารต่างๆโดยใช้ใบหน้าของหญิงสาวเหล่านั้นได้อย่างแนบเนียนในพริบตา
ซึ่งหลังจากที่สื่อท้องถิ่นมีการรายงานข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็ยิ่งทำให้มีผู้หญิงอีกจำนวนมากที่เริ่มออกมาแสดงตัวว่าพวกเธอตกเป็นเหยื่อเช่นกัน ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมามีการแจ้งเคสเพิ่มมาอีกถึง 118 เคสภายในระยะเวลาเพียง 5 วันเท่านั้น และคาดว่าจะมีเพิ่มมากกว่านี้อีก โดยที่น่าตกใจคือเหยื่อส่วนใหญ่เป็นเพียงเยาวชน ซึ่งบางรายอยู่ในระดับประถมศึกษาเท่านั้น
ภาครัฐทำอะไรได้บ้าง?
หลังจากเกิดกระแสความไม่พอใจ ทำให้นายยุน ซอก ยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ออกมาประกาศว่ารัฐบาลของเขาจะปราบปรามการละเมิดทางดิจิทัล โดยระบุว่า “บางคนอาจจะมองว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเพียงการกลั่นแกล้งกัน แต่จริงๆแล้วมันคือการก่ออาชญากรรม โดยการใช้เทคโนโลยีในทางที่ผิด และคิดว่าไม่ต้องรับโทษอะไรหากมีการปกปิดตัวตน” ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการตั้งทีมเฉพาะกิจเพื่อเร่งดำเนินการในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ตำรวจเริ่มดำเนินการสืบสวนและตามจับผู้ก่อเหตุมาได้บางส่วน กลับพบว่าผู้ต้องสงสัยส่วนใหญ่ยังเป็นเยาวชน และแน่นอนว่าหากจะดำเนิคดีกับพวกเขาก็ดำเนินคดีได้ในฐานะผู้เยาว์เท่านั้น
ไม่เพียงเท่านั้น จากข้อมูลของตำรวจเกาหลีใต้พบว่าดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิดยังต่ำมาก โดยระหว่างปี 2021 ถึงเดือนกรกฎาคมปีนี้ มีรายงานอาชญากรรม Deepfake รวม 793 คดี แต่มีเพียง 16 คนเท่านั้นที่ถูกจับกุมและดำเนินคดี
อคติทางเพศที่ยึดแน่น
ผู้นำเกาหลีใต้พูดถูกที่ว่าเรื่องนี้ไม่ใช่แค่การแกล้งกันเท่านั้น เพราะผลกระทบจากการคุกคามทางเพศผ่านทางโลกดิจิทัลนี้ สามารถทำลายชีวิตของเหยื่อทั้งชีวิตได้
และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เทเลแกรมถูกใช้เป็นช่องทางในการเผยแพร่คลิปและภาพอนาจารในลักษณะนี้ โดยในขณะที่เรื่องอื้อฉาวกำลังแพร่ลามไปทั่วเกาหลีใต้ นายพาเวล ดูรอฟ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของแพลตฟอร์ม นี้ก็เพิ่งถูกจับกุมและถูกตั้งข้อหาในฝรั่งเศสในข้อหาสมรู้ร่วมคิดในอาชญากรรม รวมถึงการแบ่งปันภาพโป๊อนาจารของเด็ก ในแอปพลิเคชั่นของเขา โดยทางการเกาหลีกล่าวว่า Telegram ให้ความร่วมมือกับการสอบสวนและกำลังขอให้ลบเนื้อหาดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายมองว่าคำพูดของนายยุนฟังดูย้อนแย้งกับการกระทำที่ผ่านมา เพราะในช่วงที่เขาจะขึ้นสู่อำนาจในปี 2022 เขาเคยโน้มน้าวใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพศชายด้วยข้อเสนอที่จะยกเลิกกระทรวงความเท่าเทียมทางเพศ โดยเขากล่าวหาว่ากระทรวงดังกล่าวปฏิบัติต่อผู้ชายเหมือนกับ “ผู้ที่อาจเป็นอาชญากรทางเพศ”
นอกจากนี้เขายังเคยอ้างว่า การเลือกปฏิบัติทางเพศอย่างเป็นระบบไม่มีอยู่จริงในเกาหลีใต้ แถมยังพูดเป็นนัยๆว่าเพศหญิงเป็นสาเหตุของอัตราการเกิดต่ำของประเทศ ทั้งที่ในความจริงแล้ว ผู้หญิงเกาหลีใต้ยังมีรายได้น้อยกว่าผู้ชายประมาณร้อยละ 30 ถือเป็นช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศที่สูงที่สุดในโลกที่พัฒนาแล้ว และแม้ว่าในครัวเรือนที่ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงต้องช่วยกันหารายได้เข้าบ้าน แต่ผู้หญิงยังต้องรับภาระหนักจากงานบ้านและความรับผิดชอบดูแลลูกไปพร้อมๆกันด้วย
...
ชะตากรรมของผู้หญิงเกาหลีใต้กับการคุกคามทางเพศ
แม้ว่าสถิติการก่ออาชญากรรมภาพรวมในเกาหลีใต้จะอยู่ในระดับต่ำ แต่เกาหลีใต้ต้องเผชิญอาชญากรรมจากการแอบตั้งกล้องแอบถ่ายมายาวนานแล้ว และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้หญิงเกาหลีใต้ตกเป็นเหยื่อการคุกคามทางเพศอย่างรุนแรง เพราะย้อนไปเมื่อปี 2018-2020 ก็เคยเกิดคดีสุดสะเทือนใจชาวเกาหลีใต้ทั้งประเทศมาแล้ว โดยห้องแช็ตออนไลน์ในแอป Telegram กลายเป็นแหล่งขายรูปและคลิปอนาจาร ของผู้หญิง โดยมีผู้หญิงกว่า 103 รายและหลายรายเป็นเพียงเยาวชน ถูกเผยแพร่รูปและคลิปที่ถูกทำทารุณกรรมทางเพศ หรือถูกถ่ายไว้ด้วยกล้องแอบถ่าย จนก่อให้เกิดกระแสการประท้วงเป้นวงกว้างเพื่อเรียกร้องให้มีการแก้กฎหมายเพื่อให้บทลงโทษรุนแรงขึ้น แต่ผู้กระทำผิดส่วนใหญ่ก็เจอแค่โทษปรับ หรือการทำทัณฑ์บนไว้ก่อน และก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างเด็ดขาดได้ โดยเหยื่อบางรายระบุว่า พวกเธอต้องเป็นคนรวบรวมหลักฐานทุกอย่างด้วยตัวเอง เพื่อจะเอาตัวคนผิดมาลงโทษ
...
การก่ออาชญากรรมด้วยเทคโนโลยี Deepfake กำลังเพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยมีข้อมูลว่าในปี 2023 มีการก่อเหตุเพิ่มขึ้นถึง 500 เปอร์เซ็นต์ โดย 99 เปอร์เซ็นต์ของเหยื่อเป็นผู้หญิง ส่วนใหญ่พุ่งเป้าไปที่ดารา และนักร้องชื่อดังระดับโลก แต่ในขณะที่เหล่าคนดังมีผู้มีอำนาจคอยให้การช่วยเหลือ และปกป้อง อย่างวงนิวจีนส์ศิลปินเคป๊อบชื่อดังที่ทางค่ายผู้ดูแลได้มีการดำเนินการฟ้องร้องทางกฎหมายต่อผู้กระทำผิดให้ทั้งหมด แต่สำหรับเหยื่อที่เป็นเพียงคนธรรมดาก็ต้องดิ้นรนเพื่อจะทวงถามความยุติธรรมให้ตัวเองต่อไป
บริษัทเทคโนโลยีกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหา
ผู้หญิงเกาหลีใต้ต่างออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้อย่างกล้าหาญด้วยการประท้วงและการเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นก้าวแรกในการดำเนินการเปลี่ยนแปลงสำหรับวิกฤติที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนทั่วโลก ซึ่งหากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ เกาหลีใต้ก็มีความคืบหน้าเกี่ยวกับการควบคุมสื่อลามกจากdeepfake มากกว่าประเทศอื่นแล้ว โดยมีกฎหมายบังคับใช้ โดยมีโทษสูงสุดคือจำคุก 5 ปี และโทษปรับ ขณะที่ในสหรัฐฯ แม้ว่าฝ่ายกฎหมายนี้จะได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายนิติบัญญัติ แต่กระบวนการผ่านความเห็นชอบของสภาคองเกรสก็ยังเป็นไปอย่างล่าช้า
...
แม้ว่าตัวบทกฎหมายจะสำคัญ แต่จากเคสที่เกิดขึ้นในเกาหลีใต้จะเห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายยิ่งเป็นเรื่องที่ยากมากกว่า ซึ่งจะยิ่งทำให้ปัญหาลุกลามบานปลาย อีกทางหนึ่งที่จะทำให้ปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไขที่ดีขึ้นก็คือความร่วมมือจากบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ในการหาเครื่องมือป้องกัน โดยปัจจุบันมหาวิทยาลัยและศูนย์วิจัยหลายแห่งเริ่มพัฒนาเครื่องมือที่จะช่วยปกป้องการนำภาพไปตัดต่อด้วยเอไอแล้ว แต่ก็ยังคงไม่เพียงพอที่จะสกัดกั้นการพัฒนาอย่างรวดเร็วของของอุตสาหกรรมเอไอ
ความรับผิดชอบของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีที่จะหาวิธีแก้ไขปัญหาเชิงรุกจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง โดยที่ผ่านมาบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ได้ตัดลบงบประมาณด้วยการตัดทีมดูแลด้านจริยธรรมและความรับผิดชอบของทีมพัฒนาเอไอออกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพื่อหวังจะลดต้นทุน ทั้งๆที่ศักดิ์ศรีของผู้หญิงและเด็กไม่ใช่สิ่งที่ควรจะเสียสละเพื่อผลกำไร วิกฤติครั้งสำคัญนี้ จึงเหมือนการลั่นระฆังเตือนดังๆไปยังอุตสาหกรรมและบริษัทชั้นนำผู้พัฒนาเอไอ ที่จะต้องคิดค้นหรือพัฒนา เครื่องมือในการป้องกันการใช้งานที่ไม่เหมาะสมเช่นนี้ไปพร้อมๆกัน และคงไม่สามารถที่จะปัดความรับผิดชอบต่อไปได้ มิเช่นนั้นเทคโนโลยีเพื่อความสะดวกสบายอาจทำลายความเป็นมนุษย์ที่มีหัวจิตหัวใจ และมีมนุษยธรรมต่อเพื่อนร่วมโลกอย่างสิ้นเชิง.
ผู้เขียน :อาจุมมาโอปอล
ที่มา : channelnewsasia , BBC , france24
คลิกอ่านข่าว รายงานพิเศษ