ฤดูร้อนปี 2024 มีอากาศร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ของโลก ทำให้มีแนวโน้มมากขึ้นที่ปีนี้จะเป็นปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยเผชิญ
นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่สิ่งที่น่าแปลกใจนัก เนื่องจากอากาศร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์เมื่อปีที่แล้ว เกิดจากการกระทำของมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้อุณหภูมิและสภาพอากาศเลวร้ายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ตามข้อมูลของสำนักบริการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัสแห่งสหภาพยุโรป ฤดูร้อนทางอุตุนิยมวิทยาทางซีกโลกเหนือ ซึ่งได้แก่ เดือนมิถุนายน กรกฎาคม และสิงหาคม มีอุณหภูมิเฉลี่ย 16.8 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าสถิติเดิมในปี 2566 ถึง 0.03 องศาเซลเซียส สถิติของโคเปอร์นิคัสย้อนกลับไปถึงปี 2483 แต่สถิติของอเมริกา อังกฤษ และญี่ปุ่น ซึ่งเริ่มต้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 แสดงให้เห็นว่าทศวรรษที่ผ่านมาเป็นทศวรรษที่ร้อนที่สุดนับตั้งแต่มีการวัดแบบปกติ และน่าจะยาวนานถึงประมาณ 120,000 ปี ตามที่นักวิทยาศาสตร์บางคนระบุ
คาร์โล บูออนเทมโป ผู้อำนวยการโคเปอร์นิคัสกล่าวว่า เดือนสิงหาคมทั้งของปี 2567 และ 2566 มีอุณหภูมิร้อนที่สุดเท่ากันทั่วโลกที่ 16.82 องศาเซลเซียส โดยเดือนกรกฎาคมเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 1 ปีที่อากาศร้อนไม่ทำลายสถิติ โดยต่ำกว่าปี 2566 เล็กน้อย แต่เนื่องจากเดือนมิถุนายน 2567 ร้อนกว่าเดือนมิถุนายน 2566 มาก ฤดูร้อนปีนี้โดยรวมจึงร้อนที่สุด
บวนเทมโปกล่าวว่า อากาศร้อนอบอ้าวมากเพราะอุณหภูมิที่สูง ทำให้จุดน้ำค้างซึ่งเป็นหนึ่งในหลายวิธีในการวัดความชื้นของอากาศ อาจอยู่ที่ระดับหรือใกล้ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงฤดูร้อนนี้สำหรับทั่วโลก
จนกระทั่งเดือนที่แล้ว บวนเทมโป และนักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศคนอื่นๆ ยังคงไม่แน่ใจว่าปี 2567 จะทำลายสถิติปีที่ร้อนที่สุดที่เคยทำไว้เมื่อปีที่แล้วหรือไม่ ส่วนใหญ่เป็นเพราะเดือนสิงหาคม 2566 ร้อนกว่าค่าเฉลี่ยอย่างมหาศาล แต่เดือนสิงหาคม 2567 ก็ร้อนเท่ากับปี 2566 ทำให้นายบวนเทมโปค่อนข้างมั่นใจว่า ปีนี้จะเป็นปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้
...
เนื่องจากการคาดการณ์ปรากฏการณ์ลานีญา ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลางบางส่วนเย็นลงตามธรรมชาติชั่วคราว สี่เดือนสุดท้ายของปีนี้ อาจไม่ใช่เดือนที่สร้างสถิติได้อีกต่อไปเหมือนในช่วงปีครึ่งที่ผ่านมา แต่บวนเทมโปกล่าวว่า อากาศอาจไม่เย็นเพียงพอที่จะทำให้ปี 2567 ไม่สามารถทำลายสถิติประจำปีได้
นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศกล่าวว่า นี่ไม่ใช่แค่ตัวเลขในสมุดจดบันทึกเท่านั้น แต่เป็นสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อผู้คน
บวนเทมโปกล่าวว่า แม้ว่าความร้อนที่ทำลายสถิติเมื่อปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งจะเกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งเป็นภาวะโลกร้อนชั่วคราวที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลาง ส่งผลให้สภาพอากาศทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไป แต่ผลกระทบดังกล่าวได้หายไปแล้ว และแสดงให้เห็นว่าปัจจัยหลักคือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในระยะยาวที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ซึ่งเกิดจากการเผาถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ.
ที่มา AP
อ่านข่าวเพิ่มเติม https://www.thairath.co.th/news/foreign