ทางการสาธารณรัฐคองโกเปิดเผยว่า นักโทษพยายามแหกคุกในกรุงกินชาซา ซึ่งเป็นเรือนจำที่มีระบบรักษาความปลอดภัยสูง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 129 ศพ
ชาบานี ลูกู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยคองโก กล่าวว่า นักโทษ 24 รายเสียชีวิตจากบาดแผลจากกระสุนปืน หลังจากมีการยิงปืนเตือนในช่วงเช้าตรู่ของวันจันทร์ (2 ก.ย.) ส่วนที่เหลือส่วนใหญ่เสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ ซึ่งเป็นผลจากการเบียดกันระหว่างการแหกคุกที่เรือนจำมาคาลา
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีรายงานผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แต่รัฐบาลได้กล่าวในตอนแรกว่ามีผู้เสียชีวิตเพียง 2 ศพ
เมื่อ 7 ปีก่อน เคยเกิดเหตุนักโทษอย่างน้อย 4,000 รายหลบหนีออกจากเรือนจำแห่งนี้ ซึ่งเป็นเรือนจำที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ
เมื่อวันจันทร์ ประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เรือนจำดังกล่าวเล่าว่า ได้ยินเสียงปืนตั้งแต่ราวตี 1 หรือตี 2 จนถึงตี 5 แต่ความพยายามของนักข่าวที่จะเข้าถึงสถานที่เกิดเหตุกลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจขัดขวาง ด้วยการปิดกั้นทางเข้าเรือนจำ พร้อมเสริมว่ากองกำลังความมั่นคงกำลังนำร่างผู้เสียชีวิตออกไป
วิดีโอถูกแชร์จากภายในเรือนจำเมื่อวันจันทร์ แต่ไม่ได้รับการยืนยันว่าเป็นภาพจริงหรือไม่ แสดงให้เห็นศพจำนวนมากนอนอยู่บนพื้น รวมถึงผู้คนตะโกนขอความช่วยเหลือท่ามกลางการปะทะกัน
นายลูกูได้โพสต์วิดีโอบน X ประมาณ 24 ชั่วโมงหลังจากความพยายามแหกคุก โดยยอมรับถึงขอบเขตของเหตุการณ์และจำนวนผู้เสียชีวิต เขากล่าวชื่นชมหน่วยงานความมั่นคง ตำรวจ และกองทัพ ที่ตอบสนองอย่างรวดเร็วและสามารถควบคุมสถานการณ์ และป้องกันการหลบหนีได้
เขากล่าวว่าได้เกิดความเสียหายเกิดขึ้นจริง รวมถึงการสูญเสียชีวิต การบาดเจ็บ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสียหายทางวัตถุในเรือนจำกลาง โดยสำนักงานบริหารและสำนักงานทะเบียนเกิดไฟไหม้
...
ภาพเหตุการณ์หลังจากความพยายามแหกคุก เผยให้เห็นโพรงขนาดใหญ่บนผนังอิฐ อาคารที่ไหม้เกรียม เจ้าหน้าที่ดับเพลิงกำลังทำงานอยู่ในบริเวณดังกล่าว และสำนักงานที่มีเอกสารกระจัดกระจายอยู่ทั่วพื้น
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า เรือนจำมาคาลา สามารถรองรับนักโทษได้ 1,500 คน แต่มีผู้ต้องขังมากกว่า 14,000 คนถูกคุมขังอยู่ที่นั่น โดยเมืเมื่อปี 2020 สำนักข่าวบีบีซีได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่เรือนจำซึ่งเล่าว่า มีคนจำนวนมากเสียชีวิตที่นั่น เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่ รวมถึงการขาดแคลนอาหารและสุขอนามัยที่ไม่เพียงพอ ในขณะนั้น คาดว่ามีนักโทษเพียง 6% เท่านั้นที่รับโทษ ส่วนที่เหลือติดอยู่ในระบบกฎหมายของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ซึ่งคดีความอาจยืดเยื้อไปอีกหลายปี.
ที่มา BBC
อ่านข่าวเพิ่มเติม https://www.thairath.co.th/news/foreign