12 สิงหาคม 2024 กระทรวงแรงงานพม่าสั่งให้บริษัทจัดหางาน 580 แห่ง ส่งหลักฐานการโอนเงินของคนงานในต่างประเทศ หากไม่ทำตาม บริษัทฯต้องหยุดดำเนินงานทันที คนงานพม่าที่ทำงานในต่างประเทศกว่า 2 ล้านคน ต้องโอนเงินอย่างต่ำร้อยละ 25 ของรายได้ที่ได้จากการทำงานในต่างประเทศไปให้ครอบครัวโดยผ่าน 1.ระบบธนาคาร 2.ช่องทางที่ได้รับอนุญาตจากทางการ หากไม่ปฏิบัติตาม เมื่อใบอนุญาตการทำงานในต่างประเทศหมดอายุ ต้องถูกห้ามออกไปทำงานในต่างประเทศ 3 ปี

เงินที่จะโอนต้องมีอัตราแลกเปลี่ยนตามที่รัฐบาลทหารพม่ากำหนด ซึ่งตอนนี้กำหนดไว้ที่ 4,150 จ๊าตต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ทว่าผู้อ่านท่านครับ อัตราการแลกเปลี่ยนในตลาดอยู่ที่ 6,000 จ๊าตต่อ 1 ดอลลาร์

ตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 เศรษฐกิจพม่าหดลงมากกว่าร้อยละ 20 ค.ศ.2024 ธนาคารโลกทำนายว่าจีดีพีพม่าจะโตเพียงร้อยละ 0.5–1 นักลงทุนย้ายออกนอกประเทศ ลงทุนในพม่าไม่มีอนาคต ปีที่แล้วอัตราเงินเฟ้อของพม่าอยู่ที่ร้อยละ 26 ปีนี้หนักกว่าเดิม

สำนักงานผู้อำนวยการการลงทุนและการบริหารบริษัทแห่งพม่าออกมายอมรับว่า 7 เดือนแรกของ ค.ศ.2024 การลงทุนจากต่างชาติที่มาลงในพม่ามีมูลค่าเพียง 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นเงินไทยก็ประมาณ 5 พันล้านบาท น้อยลงกว่าปีก่อนมาก ไม่เหมือนยุคที่นางอองซานซูจีเป็นอดีตที่ปรึกษาแห่งรัฐ ตอนที่ทหารยังไม่โค่นรัฐบาลอองซานซูจี มีเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้าพม่าเกิน 3.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1.28 แสนล้านบาท) ต่อปี

28 พฤษภาคม 2024 บริษัทซีเจ ฟีด เมียนมา ของเกาหลีใต้ประกาศระงับการผลิตและขายอาหารสัตว์ในโรงงานที่อยู่ตามเมืองใหญ่ 12 สิงหาคม 2024 บริษัทเซมบ์คอร์ป ของสิงคโปร์ ประกาศปิดโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซในเมืองมยินจาน ภูมิภาคมัณฑะเลย์ สาเหตุที่ปิดเพราะไม่มีความปลอดภัย

...

เศรษฐกิจพม่ากำลังโซเซ จะล้มมิล้มแหล่ ธนาคารกลางพยายามแก้ไขด้วยการประกาศอัดฉีดเงิน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (3.3 พันล้านบาท) ให้ภาคพลังงาน เงินจำนวนนี้รัฐบาลให้นำไปช่วยผู้ที่นำเข้าเชื้อเพลิงและน้ำมัน ผู้อ่านท่านที่เคารพ แม้พม่าจะมีก๊าซธรรมชาติ แต่ไม่มีศักยภาพในการนำก๊าซธรรมชาติมาใช้ ความที่ไม่มีเงินทำให้การนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศมาให้ชาวพม่าใช้ทำได้ลำบาก

ใครไปตามเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่จะเห็นว่า ผู้คนเข้าแถวกันยาวเหยียดเพื่อจะซื้อน้ำมัน ยาวจากในปั๊มออกไปนอกปั๊ม สถานที่เอกชนทั้งหลายต้องกักตุนน้ำมันเพื่อนำมาใช้กับเครื่องปั่นไฟเพราะไฟฟ้าจากรัฐบาลมีไม่พอ

ค.ศ.2011-2019 เศรษฐกิจพม่าโตเฉลี่ยร้อยละ 6 เป็นหนึ่งในเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาค ทำให้อัตราความยากจนที่ใน ค.ศ.2005 มีมากถึงร้อยละ 49 พอมาถึง ค.ศ.2017 ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 25 พอทหารเข้ามา พลเมืองพม่ามากกว่าร้อยละ 50 กลับไปสู่ความยากจนอีกแล้ว

โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติบอกว่า มีหน่วยงานภาคสนามออกไปสัมภาษณ์ผู้คนตามสถานที่ต่างๆ ร้อยละ 49.7 ของคนที่ตอบแบบสอบถามบอกว่าตัวเองใช้เงินในแต่ละวันน้อยมาก เมื่อแปลงเงินที่ตัวเองใช้จากจ๊าตเป็นดอลลาร์ คนพม่าใช้เงินโดยเฉลี่ยน้อยกว่า 76 เซนต์ต่อวัน เป็นเงินไทยก็ประมาณ 30 บาท

ตั้งแต่รัฐประหาร คนชั้นกลางในเขตเมืองกลายเป็นคนยากจนในฉับพลันทันที คนพม่ามีรายได้น้อย ทว่าราคาอาหารสูงปรี๊ด ราคาอาหารเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า เมื่อก่อนราคาข้าวขายกัน 6 หมื่นจ๊าตต่อ 1 กระสอบ ตอนนี้ราคาสูงไปถึง 1.8 แสนจ๊าตต่อ 1 กระสอบ บริษัทและโรงงานต้องลดกำลังการผลิตลงเหลือเพียงร้อยละ 56 เมื่อผลิตได้ไม่เต็มที่ บริษัทก็มีเงินไม่มาก การเก็บภาษีก็ทำได้น้อยลง จึงต้องไปขูดรีดเอากับแรงงาน

เศรษฐีพม่าหอบเงินมาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไทย เงินในประเทศเหลือน้อย ทรัพยากรมนุษย์ที่เก่งด้านการทำมาค้าขายก็ย้ายไปลงหลักปักฐานในประเทศอื่น พวกที่อยู่ในวัยทำงานก็ออกมาทำงานต่างประเทศ ในประเทศเหลือแต่เด็กและคนแก่พม่าโงนเงนโอนเอนเต็มทีแล้วครับ.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com 

คลิกอ่านคอลัมน์ “เปิดฟ้าส่องโลก” เพิ่มเติม