“อุกกาบาต” ตกลงมายังโลกถือเป็นเรื่องปกติ เมื่อเร็วๆ นี้มีเศษซากจากอวกาศเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกระหว่างเวลา 08.30-09.00 น. ของเช้าวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งทีมวิจัยนำโดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวิทวอเตอร์สแรนด์ ในแอฟริกาใต้ เผยว่านี่คือเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะวัตถุชิ้นนี้มีขนาดเท่า “รถยนต์”

เศษซากชิ้นนี้ปรากฏเป็นแสงจ้าบนท้องฟ้าเหนืออ่าวเซนต์ฟรานซิส ในแอฟริกาใต้ หลายคนมองว่าเป็นขยะอวกาศจากดาวเทียมที่ผ่านเข้าสู่ชั้นบรรยากาศในวิถีโคจรที่ค่อนข้างต่ำแล้วก็ถูกเผาไหม้ เศษบางส่วนกระเด็นลงมหาสมุทรนอกอ่าว การประเมินทางวิทยาศาสตร์เผยว่าเหตุการณ์นี้ สอดคล้องกับดาวเคราะห์น้อยหินขนาดใหญ่พุ่งผ่านชั้นบรรยากาศโลกด้วยความเร็วสูงมาก แรงเสียดทานกับชั้นบรรยากาศทำให้เกิดลูกไฟจนวัตถุแตกสลายไประหว่างพุ่งตกลงมา

คนทั่วไปอาจมองว่าอุกกาบาตเป็นเหมือนหินธรรมดา แต่มันมีลักษณะเรียบคล้ายแก้วสีดำ เรียกว่า เปลือกหลอม (fusion crust) เกิดจากการเผาไหม้ของอุกกาบาตขณะที่พุ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก นักวิทยาศาสตร์มองว่าเหตุการณ์วัตถุที่ตกลงมายังโลก คือโอกาสที่ดีเยี่ยมสำหรับคนที่อยากมีส่วนร่วมในวิทยาศาสตร์พลเมือง การที่ได้รู้ว่าผู้คนได้เห็นได้ยินอะไรจะทำให้รวบรวมเส้นทางการเคลื่อนที่ของอุกกาบาต และย้ำว่าหากพบชิ้นส่วนอุกกาบาต ขอให้จงระมัดระวังไม่ให้ชิ้นส่วนเหล่านั้นถูกทำลายหรือเสียหาย

ทั้งนี้ อุกกาบาตถูกระบุว่าเป็นของหายากและมีคุณค่าทางวิทยาศาสตร์ เป็นประตูสู่ความเข้าใจองค์ประกอบและจุดกำเนิดของระบบสุริยะ ดังนั้น การติดตาม แกะรอย จึงสำคัญ เพราะการที่อุกกาบาตโต้ตอบกับชั้นบรรยากาศของโลก อาจเป็นภัยคุกคาม!


ภัค เศารยะ

...

คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม