• พาเวล ดูรอฟ ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์ม เทเลแกรม ถูกจับกุมที่กรุงปารีสฝรั่งเศส ฐานปล่อยให้กลุ่มอาชญากรใช้ประโยชน์จากแอปฯ ในการกระทำผิดต่างๆ

  • นายดูรอฟเก่งเรื่องการเขียนโปรแกรมและก่อตั้งเครือข่ายสังคมออนไลน์ของตัวเองตั้งแต่อายุ 21 จนถูกเปรียบเทียบว่า เป็นมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก แห่งรัสเซีย

  • แต่ดูรอฟผิดใจกับรัสเซีย เนื่องจากไม่ยอมมอบข้อมูลผู้ประท้วงให้รัฐบาล จนต้องออกจากประเทศ และสร้างแอปฯ เทเลแกรม ซึ่งให้คำมั่นว่า ข้อมูลผู้ใช้จะไม่รั่วไหลไปถึงผู้ใดเป็นอันขาด

พาเวล ดูรอฟ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของบริษัทผู้ให้บริการแอปพลิเคชันส่งข้อความรายใหญ่อย่าง “เทเลแกรม” วัย 39 ปี ถูกขนานนามต่างๆ นานา ทั้ง โปรแกรมเมอร์อัจฉริยะ, นักธุรกิจมหาเศรษฐี, ลูกไล่ของเครมลิน หรือนักต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการพูด เพิ่งถูกจับกุมตัวในฝรั่งเศสเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

อัยการฝรั่งเศสเปิดเผยว่า การจับกุมตัวนายดูรอฟเป็นส่วนหนึ่งของการสืบสวนคดีอาชญากรรมทางไซเบอร์ โดยเขาถูกกล่าวหาว่าปล่อยปละละเลยทำให้เกิดการกระทำผิดมากมายบนแอปฯ ของเขา ทั้งการทำธุรกรรมผิดกฎหมาย, การเผยแพร่เนื้อหาลามกอนาจารเด็ก, ฉ้อโกง และปฏิเสธการให้ข้อมูลแก่ทางการ

นายดูรอฟเป็นคนลึกลับ เขามักถูกยกไปเปรียบเทียบกับรุ่นพี่ในวงการไอที ว่ามีอัจฉริยภาพเหมือน มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก, มีไลฟ์สไตล์แปลกประหลาดเหมือน แจ็ค ดอร์ซีย์ และยึดหลักเสรีนิยมแบบ อีลอน มัสก์ นอกจากนั้น ดูรอฟ เป็นพ่อทางสายเลือดของเด็กมากกว่า 100 คนตลอดช่วง 15 ปีที่ผ่านมาด้วย เพราะสเปิร์มที่เขาเคยบริจาคไป

ด้วยทรัพย์สินกว่า 9.12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ กับหนังสือเดินทางหลากหลายสัญชาติ ดูรอฟใช้ชีวิตแบบไร้พรมแดนมาตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เขามักรณรงค์เรื่องเสรีภาพในการสื่อสาร ไม่ให้สายตาของรัฐบาลสอดส่องหรือเข้ามายุ่มย่าม ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม

...

เด็กหนุ่มอัจฉริยะ

ตามการเปิดเผยของนายดูรอฟ ในการให้สัมภาษณ์เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา เขาเกิดในปี 2527 ในสหภาพโซเวียต แต่ย้ายไปอยู่อิตาลีตอนอายุได้ 4 ขวบ ก่อนที่ครอบครัวของเขาจะย้ายกลับมารัสเซียหลังการล่มสลายของโซเวียต เนื่องจากพ่อของดูรอฟ ได้รับข้อเสนอให้ทำงานในมหาวิทยาลัยเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก

ดูรอฟบอกอีกว่า เขากับพี่ชายชื่อว่า นิโคไล เป็นอัจฉริยะด้านคณิตศาสตร์ตั้งแต่เด็กๆ โดยช่วงนั้นดูรอฟผู้พี่เป็นจุดสนใจมากกว่า และได้ออกรายการโทรทัศน์ของอิตาลี เพื่อแสดงแก้ปริศนารูบิคแบบสดๆ ต่อหน้าผู้ชม และได้เหรียญทองการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศด้วย ส่วนตัวเขาก็เป็นที่ 1 ในโรงเรียน และได้ร่วมการแข่งขันในประเทศ

“เราสองคนชื่นชอบการเขียนโค้ดและการออกแบบมาก” ดูรอฟกล่าว โดยตอนที่ครอบครัวของเขากลับมารัสเซีย พวกเขาได้นำคอมพิวเตอร์ IBM PC XT มาจากอิตาลีด้วย ทำให้พวกเขากลายเป็นหนึ่งในไม่กี่ครอบครัวในยุค 90 ที่มีโอกาสเรียนรู้การเขียนโปรแกรมด้วยตัวเอง

มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก แห่งรัสเซีย

ความสามารถในการเขียนโค้ดคอมพิวเตอร์และจิตวิญญาณนักธุรกิจของดูรอฟ นำทางให้เขาก่อตั้งเครือข่ายสังคมออนไลน์ของตัวเองที่ชื่อว่า “โวฟคอนทักเท” (Vkontakte) หรือ “VK” ในปี 2549 ตอนที่เขามีอายุเพียง 21 ปีเท่านั้น และเพิ่งจบมหาวิทยาลัยมาหมาดๆ

VK กลายเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็วในฐานะ เฟซบุ๊กแห่งรัสเซีย และดูรอฟก็ถูกยกไปเปรียบเทียบว่าเป็น มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ของรัสเซีย อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับรัฐบาลเครมลินกลับย่ำแย่ลงอย่างรวดเร็ว ยิ่งกว่าความสัมพันธ์ระหว่างซัคเคอร์เบิร์กกับทำเนียบขาวสหรัฐฯ มาก

ในปี 2556 กลุ่มผู้ประท้วงในยูเครน เริ่มใช้ VK เป็นแพลตฟอร์มสำหรับนัดจัดการชุมนุมในกรุงเคียฟ เพื่อต่อต้านนายวิคตอร์ ยานูโควิช ประธานาธิบดีโปรรัสเซียของพวกเขา ซึ่งดูรอฟเปิดเผยว่า ตอนนั้น เครมลินขอให้ VK ส่งข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานชาวยูเครนให้กับทางการ

“เราตัดสินใจปฏิเสธ แล้วสถานการณ์กับรัฐบาลรัสเซียก็เลวร้ายลง” ดูรอฟกล่าวในการให้สัมภาษณ์กับนายทัคเกอร์ คาร์ลสัน อดีตผู้ประกาศข่าวชื่อดังชาวอเมริกัน

การตัดสินใจครั้งนั้น ทำให้เส้นทางของดูรอฟใน VK สิ้นสุดลง เขาต้องลาออกจากตำแหน่งซีอีโอ และเปิดทางให้คนใกล้ชิดของวลาดิเมียร์ ปูติน เข้ามารับช่วงต่อ จากนั้นดูรอฟจึงขายหุ้นของ VK ที่เขาถืออยู่ทั้งหมด ได้เงินมาหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ และเดินทางออกจากรัสเซีย ทำให้ทุกวันนี้ VK อยู่ใต้การควบคุมของรัฐบาลเครมลินโดยสมบูรณ์

“สำหรับผม มันไม่เคยเป็นเรื่องของการทำให้ตัวเองร่ำรวยเลย ทุกอย่างที่ผมทำในชีวิตก็เพื่อเป็นอิสระ ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ภารกิจในชีวิตของผมคือการทำให้คนอื่นๆ เป็นอิสระด้วย” ดูรอฟกล่าว “ผมไม่อยากรับคำสั่งจากใครทั้งนั้น”

...

สร้างแอปฯ เทเลแกรม

ดูรอฟออกจากรัสเซีย ในช่วงที่แอปพลิเคชันส่งข้อความบูมขึ้นมา มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก เข้าซื้อ “วอตส์แอป” (WhatsApp) ที่ได้รับความนิยมเป็นวงกว้าง และสร้างอาณาจักรสื่อสังคมออนไลน์ที่ตอนนี้รู้จักกันในชื่อ “เมตา” (Meta) ขึ้นมา แต่ดูรอฟเลือกที่จะสร้างแอปฯ ของตัวเอง แม้ว่าในตลาดจะเต็มไปด้วยแอปฯ แบบนี้แล้วก็ตาม เนื่องจากเขามองว่าไม่มีแอปฯ ใดดีพอเลย

“มันไม่สำคัญหรอกว่าจะมีแอปฯ ส่งข้อความกี่แอปฯ ในตลาด ถ้าทั้งหมดมันห่วย” ดูรอฟบอกกับเว็บไซต์ข่าว TechCrunch ในปี 2558

ดูรอฟเล่าว่า สิ่งที่เครมลินทำกับเขาเป็นแรงผลักดันหลักให้เขาสร้างแอปพลิเคชัน “เทเลแกรม” (Telegram) ขึ้นมา โดยมีฐานอยู่ที่รัฐดูไบ ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เขากับพี่ชายต้องการสร้างอะไรบางอย่างที่เป็นอิสระจากสายตาสอดส่องของรัฐบาล

ระบบการเข้ารหัสแบบ ต้นทางถึงปลายทาง อันแข็งแกร่ง และการให้สัญญาเรื่องความเป็นส่วนตัวของเทเลแกรม ดึงดูดผู้ใช้งานหลายร้อยล้านคนให้หลั่งไหลเข้ามา แต่นั่นรวมถึงบุคคลไม่พึงประสงค์อย่างผู้ก่อการร้ายด้วย โดยพวกเขาใช้เทเลแกรมในการวางแผนโจมตีกรุงปารีสในเดือนพฤศจิกายนปี 2558 ซึ่งทำให้มีผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตถึง 131 ศพ

การที่เทเลแกรมถูกใช้ประโยชน์โดยกลุ่มก่อการร้าย ทำให้ดูรอฟที่ใช้ชีวิตเงียบๆ อย่างเป็นส่วนตัว ต้องออกหน้าให้สัมภาษณ์กับสื่อมากมาย รวมทั้ง ซีเอ็นเอ็น เพื่อรับรองต่อสังคมที่กำลังวิตกกังวลว่า เทเลแกรมจะไม่กลายเป็น วอตส์แอป ของผู้ก่อการร้าย

ดูรอฟยืนยันว่า เทเลแกรมเป็นเพียงแอปพลิเคชันส่งข้อความที่ปลอดภัยที่สุดในตลาด และการยอมให้เกิดการสร้างประตูหลังให้รัฐบาลเข้ามาตรวจสอบ จะทำลายจุดขายของแอปฯ และผิดสัญญาของบริษัทเรื่องความเป็นส่วนตัว

“คุณไม่สามารถทำให้มันปลอดภัยจากอาชญากร และเปิดประตูให้รัฐบาลได้” ดูรอฟบอกกับซีเอ็นเอ็นในปี 2559 “มันคือตัวเลือกระหว่าง ปลอดภัย หรือไม่ปลอดภัยเลย”

...

นักเคลื่อนไหวชาวรัสเซีย ยืนประท้วงการจับกุมนายดูรอฟ ที่หน้าสถานทูตฝรั่งเศสในกรุงมอสโก
นักเคลื่อนไหวชาวรัสเซีย ยืนประท้วงการจับกุมนายดูรอฟ ที่หน้าสถานทูตฝรั่งเศสในกรุงมอสโก

โดนกล่าวหาเป็นลูกไล่รัสเซีย?

การที่เทเลแกรมไม่ยอมปลดล็อกรหัสให้รัฐบาลเข้าถึงข้อมูล ทำให้พวกเขามีปัญหากับหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงรัสเซีย ... อย่างน้อยก็ในตอนแรก

เมื่อปี 2561 มอสโกพยายามแบนเทเลแกรม โทษฐานไม่ยอมมอบกุญแจรหัสข้อความให้แก่หน่วยงานความมั่นคงของรัสเซีย แต่จู่ๆ การแบนก็ถูกยกเลิกในปี 2563 และไม่กี่ปีหลังจากนั้น เทเลแกรมก็กลายเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างชาติเพียงไม่กี่เจ้า ที่ดำเนินกิจการในรัสเซียได้โดยไม่ถูกจำกัด และกลายเป็นช่องทางสื่อสารยอดนิยมของเจ้าหน้าที่รัฐบาลด้วย

นักวิจารณ์มากมายตั้งคำถามมานานแล้วว่า ที่เทเลแกรมสามารถดำเนินกิจการในรัสเซีย เพราะพวกเขายอมอ่อนข้อบางอย่างให้แก่รัฐบาลเครมลินหรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่านายดูรอฟปฏิเสธ โดยอ้างเรื่องปัญหาระหว่างเขากับรัฐบาลรัสเซีย ที่เกิดขึ้นในปี 2556 จนสุดท้ายเขาก็ต้องออกจากประเทศไป

ก่อนที่ดูรอฟจะถูกจับกุมในปารีส เขาอยู่ที่อาเซอร์ไบจานในเวลาเดียวกับที่ วลาดิเมียร์ ปูติน เดินทางเยือนเป็นเวลา 2 วันพอดี แต่นายดีมิทรี เปสคอฟ โฆษกรัฐบาลยืนยันว่า ทั้งคู่ไม่ได้พบกันแต่อย่างใด

มีข้อสังเกตเรื่องความสัมพันธ์ของดูรอฟกับรัสเซียอีกอย่างคือ แม้เบื้องหน้า นักธุรกิจหนุ่มรายนี้จะหันหลังให้รัสเซีย แต่กลับเป็นเครมลินที่ออกมาเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วเพื่อช่วยเหลือนายดูรอฟ หลังเขาถูกจับกุม โดย น.ส.มาเรีย ซาคาโรวา โฆษกกระทรวงต่างประเทศรัสเซียพูดเองว่า สถานทูตรัสเซียในปารีส “ลงมือทำงานทันที” หลังได้ข่าวเรื่องปัญหาทางกฎหมายของดูรอฟ

ข้อครหาเรื่องเทเลแกรมถูกอาชญากรใช้ประโยชน์เพื่อ การฟอกเงิน, ค้ายาเสพติด และเผยแพร่ภาพลามกอนาจารเด็ก เป็นสิ่งที่ทำให้ชาติตะวันตกกังวลมาตลอด และการจับกุมนายดูรอฟก็เกี่ยวข้องกับเรื่องข้อบกพร่องในการควบคุมการใช้งานของเทเลแกรมนี้เอง

...

มีลูกมากกว่า 100 คน

เรื่องคดีความของนายดูรอฟ ต้องติดตามกันต่อว่าสุดท้ายแล้วจะจบลงอย่างไร แต่ก็มีอีกเรื่องเกี่ยวกับชายคนนี้ที่สร้างเสียงฮือฮาไปทั่วโลก นั่นก็คือ เขาเป็นพ่อโดยสายเลือดของเด็กมากกว่า 100 คน

ดูรอฟเผยผ่านเทเลแกรมเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ว่าเขาเองก็เพิ่งรู้ว่าตัวเองเป็นพ่อทางสายเลือดของเด็กกว่า 100 คน ทั้งที่ตัวเขาเองไม่เคยแต่งงาน และชอบใช้ชีวิตสันโดษ

ตามการเปิดเผยของดูรอฟ เรื่องทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นเมื่อ 15 ปีก่อน “เพื่อนของผมติดต่อมาหาพร้อมกับคำขอร้องแปลกๆ เขาบอกว่าเขากับภรรยามีลูกไม่ได้เพราะปัญหาเรื่องการเจริญพันธุ์ และขอให้ผมบริจาคสเปิร์มให้แก่คลินิกแห่งหนึ่ง เพื่อที่พวกเขาจะได้มีลูกได้ ผมหัวเราะลั่นเลย ก่อนจะรู้ว่าเขาจริงจังมาก”

“เจ้าของคลินิกแห่งนั้นบอกผมว่า ‘ผู้บริจาคคุณภาพสูงที่เหมาะสม’ นั้นขาดแคลนมาก และนั่นเป็นหน้าที่ในฐานะพลเรือนของผมที่ต้องบริจาคสเปิร์มมากขึ้น เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่คู่รักอื่นๆ ให้มากขึ้น โดยไม่ประสงค์ออกนาม มันฟังดูบ้าบอมากพอทำให้ผมลงนามบริจาคสเปิร์ม”

“เร่งเวลามาในปี (ค.ศ.) 2024 การบริจาคในอดีตของผมช่วยให้คู่รักมากกว่าร้อยคู่ใน 12 ประเทศ มีลูก ยิ่งกว่านั้น หลายปีหลังจากผมหยุดบริจาค คลินิกทำเด็กหลอดแก้วอย่างน้อย 1 แห่ง ยังแช่แข็งสเปิร์มของผมไว้ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับบริจาคให้แก่ครอบครัวที่ต้องการมีลูก”

“ตอนนี้ผมกำลังวางแผนเปิดเผยดีเอ็นเอของผม เพื่อให้ลูกๆ ทางสายเลือดของผม สามารถตามหากันและกันได้ง่ายขึ้น แน่นอนว่ามันมีความเสี่ยงหลายอย่าง แต่ผมไม่เสียใจเลยที่บริจาค การขาดแคลนสเปิร์มที่แข็งแรงเริ่มกลายเป็นปัญหาร้ายแรงมากขึ้นเรื่อยในโลกไปทั่วโลก และผมภูมิใจที่ผมได้ทำในส่วนของตัวเองเพื่อบรรเทาปัญหานี้”

“นอกจากนั้น ผมยังอยากช่วยลบการตีตราอัปยศทั้งหมดที่เกี่ยวกับการบริจาคสเปิร์ม และกระตุ้นให้ผู้ชายแข็งแรงร่วมกันบริจาคมากขึ้น เพื่อให้ครอบครัวที่กำลังประสบปัญหาการมีลูก ได้มีทางเลือกมากขึ้น”





ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี

ที่มา : cnntelegrambbc