เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา นางโยโกะ คามิกาวะ รมว.ต่างประเทศญี่ปุ่น และ นายมิโนรุ คิฮาระ รมว.กลาโหมญี่ปุ่น และ นายสุพรหมณยัม ชัยศังกระ รมว.ต่างประเทศอินเดีย และ นายราชนาถ สิงห์ รมว.กลาโหมอินเดีย ได้ตกลงที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงปี 2551 ที่เรียกว่า “สองบวกสอง” ซึ่งทำหน้าที่เป็นแนวทางความร่วมมือทางการทูต และการป้องกันประเทศระหว่างทั้ง 2 ประเทศ คาดว่าจะลงนามกันเมื่อ นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ไปเยือนญี่ปุ่น คาดว่าจะภายในสิ้นปี 2567

นอกจากนี้ ทั้งญี่ปุ่นและอินเดีย ยังตั้งเป้าที่จะปรับปรุงปฏิญญาเพื่อรวมเอาความร่วมมือด้านอวกาศและไซเบอร์สเปซ (space and cyber) เข้าไว้ในปีนี้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากญี่ปุ่นพยายามจะเสริมสร้างศักยภาพด้านการป้องกันประเทศในขอบเขตใหม่ๆ เช่น อวกาศและไซเบอร์ โดยเน้นทำงานร่วมกับประเทศที่มีแนวคิดเดียวกันในสาขาดังกล่าว ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ญี่ปุ่นและอินเดียก็ใกล้ชิดกันมากขึ้นภายใต้วิสัยทัศน์ในการบรรลุยุทธศาสตร์ “อินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง” (a free and open Indo-Pacific)

ส่วนที่ว่า “อวกาศและไซเบอร์” สำคัญอย่างไร? ก็อาจสรุปคำตอบแบบย่นย่อว่า เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น ภัยคุกคามก็พัฒนาตามไปด้วย ดังนั้น การป้องกันเทคโนโลยีในอวกาศต้องใช้กลยุทธ์ต่างๆ มาช่วยป้องกัน และแนวทางที่เปิดกว้างจะเป็นกุญแจสำคัญในการเตรียม พร้อมรับมือกับใครก็ตามที่คิดค้นวิธีโจมตี

เพราะที่ผู้โจมตีอาจพยายามหาช่องทางสื่อสาร ขัดขวางระบบ หรือบังคับให้ระบบให้ข้อมูลปลอม โดยสิ่งเหล่านี้อาจมาจากแรงจูงใจหรืออุดมการณ์ทางการเมือง การแข่งขันทางเศรษฐกิจด้านทรัพยากรในอวกาศ รวมไปถึงความอยากรู้อยากเห็นของผู้ไม่หวังดีที่ปรารถนาที่จะก่อความหายนะ และหนึ่งในความกังวลของหลายประเทศก็คือ ดาวเทียมในวงโคจรของโลก ที่อยู่บนนั้นได้นานถึง 10 ปีหรือมากกว่านั้น ทว่าการปรับปรุงรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ของดาวเทียมให้ทันสมัย ก็เป็นเรื่องยากพอดู และนี่คือตัวอย่างหนึ่งที่เป็นโจทย์ต้องแก้.

...

ภัค เศารยะ

คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม