23 สิงหาคม 2024 โรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี จูเนียร์ ประกาศยุติการรณรงค์หาเสียงในนามผู้สมัครอิสระเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ หลังจากแถลงข่าวสื่อมวลชนเสร็จแล้ว เคนเนดีก็ไปปรากฏตัวบนเวทีปราศรัยของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่แอริโซนา เคนเนดีกับทรัมป์ มีจุดยืนเหมือนกันในด้านการยุติสงครามในต่างแดน

เคนเนดีเป็นลูกชายของโรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี อดีตวุฒิสมาชิกรัฐนิวยอร์กและอัยการสูงสุด เป็นหลานชายของจอห์น เอฟ. เคนเนดี อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯที่ถูกยิงตาย

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯที่จะมีขึ้นในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2024 ผู้ที่ได้คะแนนเสียงสูงสุดอาจจะไม่ได้เป็นประธานาธิบดีก็ได้ เรื่องลักษณะนี้เกิดมาแล้วหลายครั้ง ครั้งล่าสุดเมื่อ ค.ศ.2016 ฮิลลารี คลินตัน ได้ 65,853,514 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 48.2 ทรัมป์ได้ 62,984,828 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 46.1 แต่ทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดีเพราะได้คะแนนของคณะผู้เลือกตั้งประธานาธิบดีหรือ electoral college มากกว่านางคลินตัน

ระบบการเมืองของไทย ญี่ปุ่น หรืออังกฤษ หัวหน้าพรรคที่ได้ จำนวน สส.สูงสุด จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี หรือการเลือกตั้งประธานาธิบดีของประเทศอื่น คนที่มีคะแนนเสียงมากที่สุดก็จะได้เป็นผู้นำประเทศ

ประธานาธิบดีสหรัฐฯมาจากการเลือกตั้งทางอ้อม คนที่เลือกประธานาธิบดีของจริงคือ ‘คณะผู้เลือกตั้งประธานาธิบดี’ ที่มีทั้งสิ้น 538 คน แต่ละรัฐมีจำนวนของคณะผู้เลือกตั้งไม่เท่ากัน จะมีคณะผู้เลือกตั้งกี่คน ขึ้นอยู่กับจำนวนรวมของสมาชิกวุฒิสภา + สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของรัฐนั้นๆ

รัฐแคลิฟอร์เนียมีสมาชิกวุฒิสภา 2 คน มี สส. 53 คน ดังนั้น รัฐนี้จึงมีจำนวนคณะผู้เลือกตั้งทั้งสิ้น 55 คน แคลิฟอร์เนียเป็นรัฐที่มีจำนวนคณะผู้เลือกตั้งมากที่สุด

...

หลายประเทศและหน่วยงานหลายแห่งบนโลกใบนี้รอผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2024 แฮร์ริสจากเด็มโมแครตประกาศชัดเจนแล้วว่าจะสนับสนุนอิสราเอลและอูเครน ถ้าแฮร์ริสขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรก ในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ก็พอทำนายทายทักอนาคตของโลกได้ว่าจะวุ่นวายขายปลาช่อนกับสงครามในตะวันออกกลางและในยุโรปตะวันออกต่อไป

ถ้าทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดี คนที่เหนื่อยก็น่าจะเป็นเซเลนสกี ประธานาธิบดีอูเครน เพราะทรัมป์ส่งสัญญานหลายครั้งว่า ไม่อยากให้มีสงครามแบบรบพุ่งกัน ทรัมป์ชอบสงครามการค้า ถ้าทรัมป์เป็นผู้นำสหรัฐฯอีกครั้ง ความร้อนแรงด้านการแข่งขันการค้า การลงทุนของโลกจะสูงขึ้น ประเทศที่จะเหนื่อยก็คือจีน เหมือนกับตอนที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีครั้งแรกระหว่าง ค.ศ.2017-2021

นอกจากประธานาธิบดีแล้ว ยังมีหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อประธานาธิบดีที่มีผลกระทบต่อโลก เช่น สภาความมั่นคงแห่งชาติ สภาที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ นอกนั้นก็เป็นหน่วยงานสำคัญระดับกระทรวงที่มีรัฐมนตรีรับผิดชอบ ปัจจุบันสหรัฐฯมี 15 กระทรวง คือ เกษตร พาณิชย์ กลาโหม ศึกษาธิการ พลังงาน สุขภาพและบริการมนุษย์ ความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ การเคหะและการพัฒนาเมือง ยุติธรรม แรงงาน ต่างประเทศ มหาดไทย คลัง คมนาคม และทหารผ่านศึก

ระบอบการเมืองการปกครองของสหรัฐฯมีหลักการที่พูดถึงกันอยู่บ่อยๆ 2 หลัก คือ หลักการแบ่งแยกอำนาจและหลักการตรวจสอบและถ่วงดุล สภาคองเกรสเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ มีหน้าที่บัญญัติกฎหมาย ประธานาธิบดีมีหน้าที่บริหารและทำให้กฎหมายเหล่านั้นมีผลบังคับใช้ และฝ่ายตุลาการหรือศาลสูงมีหน้าที่ตีความกฎหมาย โครงสร้างทั้งสามของสหรัฐฯแยกออกจากกัน ไม่ก้าวก่ายกัน

ส่วนหลักการตรวจสอบและถ่วงดุลให้รัฐสภามีอำนาจรับรองการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการระดับสูง ทั้งฝ่ายบริหารและตุลาการตามที่ประธานาธิบดีเสนอ รัฐสภามีอำนาจในการถอดถอนประธานาธิบดี ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ระดับสูง และผู้พิพากษา

ประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐ เป็นหัวหน้ารัฐบาล เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด มีอำนาจยับยั้งร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภามาแล้ว ศาลสูงมีอำนาจวินิจฉัยและตีความกฎหมาย แม้ว่าจะผ่านการพิจารณาจากรัฐสภามาแล้ว แต่ศาลสูงก็ยังวินิจฉัยว่ากฎหมายเหล่านั้นชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่ องค์กรของรัฐองค์กรใดขัดแย้งกับเรื่องการใช้อำนาจก็ให้ศาลสูงเป็นผู้ชี้ขาด

ปฏิเสธไม่ได้ว่า นโยบายของฝ่ายบริหารของสหรัฐฯมีส่วนเกี่ยวข้องกับความเป็นไปของประเทศต่างๆอย่างมาก เราจึงต้องติดตามการเมืองของสหรัฐฯอย่างใกล้ชิด.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com

คลิกอ่านคอลัมน์ “เปิดฟ้าส่องโลก” เพิ่มเติม