กระแสความนิยมของเกมค่ายจีน Black Myth : Wukong นอกจากจะสร้างความภาคภูมิใจแก่ฝั่งจีนที่กำลังพยายามป้อนเกมระดับทริปเปิลเอ (AAA) ออกสู่ตลาดแล้วยังสร้างกระแสความสะใจแก่บรรดานักเล่นเกมตัวยง หรือเหล่า “เกมเมอร์” ไม่น้อย เนื่องด้วยทันทีที่เปิดให้เริ่มเล่นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็มีผู้เล่นทั่วโลกมากกว่า 1 ล้านคน แถมตัวเลขก็ไม่หยุดอยู่เพียงเท่านั้น สถิติในช่วงสุดสัปดาห์ได้ขยับเป็นมากกว่า 2 ล้านคน
ถือเป็นตัวเลขที่ตอกหน้าบรรดานักรีวิวของชาติตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯ หลังวิพากษ์วิจารณ์โจมตีเกมซุนหงอคงจากนวนิยาย “ไซอิ๋ว” ว่ามีข้อเสียสำคัญคือ “ขาดความหลากหลายทางเพศและเชื้อชาติ”
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เกม (หรือภาพยนตร์) ที่ผลิตโดยบริษัทตะวันตก ได้กลายเป็นที่รับรู้กันว่า จะต้องใส่หลักการ DEI-Diversity Equity Inclusion หรือแนวคิดสนับสนุนความหลากหลายปนมาด้วย และทำให้ภายในเกมจะมีตัวละคร “คนผิวสี” คนรักร่วมเพศ คนข้ามเพศ หรือ “ผู้หญิงมั่น” ที่ต่อต้านกรอบความคิดเดิมๆของผู้ชาย มีความเรียลไซส์ บิวตี้ หรือ “คนสวยไม่จำเป็นต้องหุ่นดี” ซึ่งในช่วงแรกๆ ผู้บริโภคก็สามารถยอมรับได้ เนื่องจาก คอนเทนต์ต่างๆ ไม่ได้ทำให้เกิดความรู้สึกว่าถูกยัดเยียดจนเกินพอดี
อย่างไรก็ตาม หลักการ DEI ในปัจจุบันได้ แปรสภาพไปอย่างสิ้นเชิง จากเดิมที่ใส่คอนเทนต์ ความหลากหลายมาเป็น “ทางเลือก” ให้สอดคล้องไปกับเนื้อเรื่องอย่างลงตัว กลับกลายเป็นสิ่งที่ต้องทำ “ถูกบังคับให้เลือก” จนทำให้เกมค่ายตะวันตกในระยะหลังเริ่มหมดเสน่ห์ เห็นได้จากสถิติผู้เล่นอยู่ที่หลักร้อยหลักพัน มากสุดคือหลักหมื่น แต่งานนี้ก็ดูเหมือนว่า กลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลังจะยังไม่รู้ตัวกัน ออกมาด่าขรมว่า สาเหตุที่ผลิตภัณฑ์ไม่ได้รับความนิยม เป็นเพราะผู้บริโภคมีความเหยียดผิว เหยียดเพศ ต่อต้าน LGBTQ
...
ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นคำถามที่น่าสนใจว่า เหตุผลที่เกมหงอคงของค่ายจีนได้รับความนิยมอย่างถล่มทลาย อาจใช่ว่าเพราะเป็นเกมที่ทำออกมาได้สนุกและมีความอลังการในระดับทริปเปิลเอเพียงอย่างเดียว แต่อาจมาจากการที่เกมถูกรุมวิจารณ์ว่าขาดความหลากหลายตามหลักการ DEI ด้วยก็เป็นได้!?
ตุ๊ ปากเกร็ด
คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม