เมื่อกล่าวถึงอุตสาหกรรมการ์ตูน หลายคนอาจนึกถึงญี่ปุ่นและสหรัฐ อเมริกาเป็นอันดับแรก เนื่องจากทั้ง 2 ชาติเป็นที่เลื่องชื่อในเรื่องของหนังสือการ์ตูนและแอนิเมชัน แต่ถ้าพูดถึง “เว็บตูน” (Webtoon) การ์ตูนดิจิทัล ที่ผู้อ่านสามารถเพลิดเพลินไปกับการ์ตูนที่หลากหลายบนสมาร์ทโฟน หรือ คอมพิวเตอร์ในแนวตั้งแค่สัมผัสเพียงปลายนิ้ว ก็คงนึกถึง เกาหลีใต้ เป็นชื่อแรกๆ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเว็บตูนกลายเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนกระแสวัฒนธรรม หรือฮันรยูของเกาหลีใต้ ทั้งยังสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล โดยข้อมูลจากกระทรวงวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยวของเกาหลีใต้ เผยว่า ในปี 2565 อุตสาหกรรมเว็บตูนในประเทศสามารถทำยอดขายไปได้มากถึง 1.8 ล้านล้านวอน หรือประมาณ 47,074 ล้านบาท และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องนับแต่ปี 2561

ในโอกาสที่ทีมข่าวต่างประเทศ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ได้รับเชิญจากกระทรวงวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยวของเกาหลีใต้ ร่วมทริปสื่อต่างประเทศเพื่อศึกษาดูงานด้านวัฒนธรรม ทำให้ทีมข่าวได้เข้าไปสัมผัสกับกระบวนการผลิตเว็บตูนของ “คิดาริ สตูดิโอ” (Kidari Studio) บริษัทผลิตและจัดจำหน่ายเนื้อหา และให้บริการแพลตฟอร์มเว็บตูน รวมทั้งเว็บโนเวล (นิยายดิจิทัล) ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวอย่างของผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมเว็บตูน โดยข้อมูลล่าสุดจากหนังสือพิมพ์มันนี ทูเดย์ สื่อเศรษฐกิจของเกาหลีใต้เผยว่า คิดาริ สตูดิโอ สามารถทำยอดขายในไตรมาสที่ 2 ได้ 4,980 ล้านวอน (ราว 1,275 ล้านบาท) รวมทั้งได้กำไรมากถึง 700 ล้านวอน (ราว 17 ล้านบาท) ซึ่งผลประกอบการที่เพิ่มขึ้นนี้ มาจากการให้บริการในต่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญ

ทีมข่าวได้พบกับคุณ โจ จองอึน ผู้จัดการของคิดาริ สตูดิโอ มาฉายภาพธุรกิจเว็บตูนให้กระจ่างชัดยิ่งขึ้น คุณโจเผยว่า เป้าหมายของคิดาริ สตูดิโอ คือการมอบความสุขและความสนุกที่ไม่จำกัดอยู่แค่เกาหลีใต้ แต่รวมไปถึงคนทั่วโลก ซึ่งเนื้อหาที่จัดทำและจำหน่ายนั้นมีหมวดหมู่ที่หลากหลาย เช่น แอ็กชัน บอยส์เลิฟ เกิร์ลส์เลิฟ และแฮปปี้เลิฟ

...

โดยมีแพลตฟอร์มให้บริการเนื้อหาไอพี หรือทรัพย์สินทางปัญญา (ในที่นี้คือเนื้อหาเว็บตูนและเว็บโนเวลที่อยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท) 3 แพลตฟอร์ม คือ บูมตูน (Boomtoon) เลจิน (Lezhin) และเดลีตูน (Delitoon) โดยมี 14 แพลตฟอร์ม ใน 8 ภาษาทั่วโลก ได้แก่ เกาหลี ญี่ปุ่น จีน ไทย อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศสและสเปน จึงเป็นผลให้เว็บตูนเติบโตและกลายเป็นบริษัทระดับโลกได้

แพลตฟอร์มแรก คือ “บูมตูน” ซึ่งได้รับความ นิยมเป็นอันดับหนึ่งของกลุ่มผู้อ่านหญิงในเกาหลีใต้ ยังเปิดให้บริการในไทย ไต้หวัน ญี่ปุ่น และประเทศ ในภูมิภาคอาหรับและตะวันออกกลาง เนื้อหาส่วนใหญ่เน้นเป็นเว็บตูนสไตล์ผู้หญิง ทั้งโรแมนติก-แฟนตาซีแบบผู้หญิง หรือบอยส์เลิฟ โดยในปี 2566 มียอดผู้ใช้บริการสะสมเกิน 8.5 ล้านคน

ขณะที่ “เลจิน” เป็นแพลตฟอร์มที่มีเนื้อหาครอบคลุมทุกประเภทของผู้หญิง ผู้ชายและทั่วโลก ให้บริการในเกาหลี ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และสเปน มีเป้าหมายคือกลุ่มผู้อ่านชาย รวมทั้งใช้กลยุทธ์กระจายหมวดหมู่ของเนื้อหาและสไตล์มากขึ้น ยังถือเป็นที่แรกที่นำแนวคิด การให้บริการเว็บตูนแบบเสียเงิน มาใช้ในช่วงต้นปี 2553 เนื่องจากที่ผ่านมา ผู้ให้บริการเจ้าอื่นๆ ยังเปิดให้อ่านโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งในปี 2566 มียอดผู้ใช้บริการเลจินมากกว่า 44 ล้านคนทั่วโลก

ส่วนแพลตฟอร์ม “เดลีตูน” เป็นการนำแนวคิด การให้บริการเว็บตูนแบบไม่เสียค่าใช้จ่ายมาใช้ครั้งแรกในพื้นที่ยุโรป คือ ฝรั่งเศสและเยอรมนี เนื้อหาและสไตล์ของเว็บตูนส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ผู้หญิงยุโรป และหมวดหมู่ที่ได้รับความนิยมมากคือแนวโรแมนติก-แฟนตาซี ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการในยุโรปมากกว่า 4 ล้านคนแล้ว

เว็บตูนของค่ายนี้มีทั้งแบบที่อ่านได้ทุกวัยและแบบที่ต้องจำกัดอายุ เพราะหลายเรื่องมีความเข้มข้น เร่าร้อนและสะท้อนสังคมแบบดาร์กๆ เช่น การชิงรักหักสวาทและการกดขี่ทางชนชั้น แต่เรื่องที่อยากแนะนำ คือเดอะ กูร์เม เกมเมอร์ (The Gourmet Gamer) แนวแฟนตาซี-ไซไฟ เรื่องราวของอี ริม เชฟหนุ่มที่สูญเสียความสามารถในการรับรสและกลิ่น ทำให้ชีวิตในฐานะเชฟจบลง แต่แล้วก็ได้พบกับเกมที่สามารถดึงประสาทสัมผัสของเขากลับคืนมา แถมยังสามารถล่ามอนสเตอร์มาทำอาหารได้

คิดาริ สตูดิโอ ยังมีการนำเว็บตูนและเว็บโนเวลมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ที่หลากหลาย (One Source Multi Use หรือ OSMU) อย่างการสร้างสรรค์และพัฒนาไอพีให้กลายเป็นวิดีโอ ละคร หรือภาพยนตร์ ดังเช่นเรื่องที่กำลังจะเข้าฉายในไทยในเดือนหน้านั่นคือ ไฮแจ็ก (Hijack) มีช่องรีวิวเว็บตูนและรายการวาไรตีบนยูทูบ คือ รายการบอย’ส วอยซ์ (Boy’s Voice) รวมทั้งมีผลงานเพลงจากเว็บตูนและเว็บโนเวล มีการผลิตและจำหน่ายสินค้าและของสะสมต่างๆ (Goods) เช่น พวงกุญแจ ตุ๊กตาและปฏิทิน รวมทั้งขายสินค้าบนแพลตฟอร์ม ออนไลน์ และมีร้านป๊อปอัปแบบออฟไลน์อยู่ที่ชั้น 1 ของบริษัทซึ่งจะปรับเปลี่ยนคอนเซปต์ในทุกๆครั้งตามโอกาส โดยคราวนี้ทีมข่าวมาทันในช่วงคอนเซปต์ เรซซิง ทู อะนาเธอร์ พิงก์ (Racing to Another Pink) ซึ่งเป็นธีมเกี่ยวกับกีฬาฟอร์มูลาวันนั่นเอง

หลังได้ฟังข้อมูล สำรวจการทำงาน และบรรยากาศในคิดาริ สตูดิโอ ทำให้เห็นว่าเกาหลีใต้ มีความจริงจังในการส่งออกผลงานที่มีคุณภาพสู่ระดับโลก ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล ควบคู่ไปกับการสร้างชีวิตการทำงานของพนักงานให้สนุกสนาน มีการพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่ไม่ได้จำกัดแค่ด้านศิลปะ แต่รวมถึงการสนับสนุนฝึกอบรมด้านภาษาและการทำงาน ในต่างประเทศ เพื่อให้พนักงานเติบโตและก้าวหน้าระดับโลกไปพร้อมๆกัน.

...


อาทิตญา ทาแป้ง

คลิกอ่านคอลัมน์ “7 วันรอบโลก” เพิ่มเติม