การเสวนา “ทิศทางไทยในจอเรดาร์โลก : IPEF, OECD และ BRICS” โดยกระทรวงการต่างประเทศเมื่อไม่นานมานี้ เปิดโอกาสให้นางสาลินี ผลประไพ รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ น.ส.ใจไทย อุปการนิติเกษตร รองอธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ ดร.ภก.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการกฎระเบียบการค้าและพหุภาคี รวมทั้ง รศ.ดร.จิตติภัทร พูนขำ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้แบ่งปันข้อมูลและแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็นกับนักวิชาการ ผู้สื่อข่าวทั้งในและต่างประเทศ ถึงทิศทางการดำเนินการ รวมทั้งโอกาสและความท้าทายของไทยในการเข้าร่วมเป็นสมาชิก กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF), องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) และกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ BRICS นำโดยบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้

ทั้งนี้ แต่ละกรอบความร่วมมือล้วนมีเป้าหมายแตกต่างกันไป เช่น OECD มุ่งยกระดับมาตรฐานไทยเพื่อการเจริญเติบโตที่เข้มแข็งและยั่งยืน หากสำเร็จจะช่วยดันจีดีพีขึ้น 1.6% และยังจะส่งให้ไทยก้าวข้าม “รายได้ปานกลาง” ภายในปี 2580 ขณะที่ BRICS เป็นการยกระดับความสัมพันธ์กับประเทศศักยภาพสูง ตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ อุดมด้วยแหล่งพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งประชากร 40% ของโลก จึงเป็นโอกาสการค้าที่ไม่อาจละเลยได้ แม้จะมีข้อกังวลว่าความต้องการเข้าร่วมสร้างระเบียบโลกใหม่กับจีนและรัสเซีย อาจทำให้มองว่าแสดงจุดยืนเลือกข้างและจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกหรือไม่

ไม่ว่าอย่างไรนายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ ให้ความมั่นใจว่าการตัดสินใจทุกอย่างผ่านการคิดมาอย่างดี ยืนยันไม่เลือกข้าง แต่เลือก “ประเด็น” ที่เป็นประโยชน์ต่อไทยเป็นสำคัญ.

...

อมรดา พงศ์อุทัย

คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม