(ภาพจาก weibo)
เกิดเพลิงไหม้รุนแรงบนเรือบรรทุกเครื่องบินเก่า ในแม่น้ำใกล้นครเซี่ยงไฮ้ ของจีน เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะปรับปรุงเพื่อใช้เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวของสวนสนุก
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อ 19 ส.ค. 2567 ว่า เรือบรรทุกเครื่องบิน มินสก์ (Minsk) ซึ่งจอดอยู่ในแม่น้ำแยงซีเกียง บริเวณเมืองหนานทง มณฑลเจียงซู มานานร่วม 8 ปีแล้ว เกิดไฟลุกไหม้อย่างรุนแรงระหว่างการปรับปรุงใหม่ ตามแผนการทำให้มันเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวของธีมปาร์คแนวกองทัพแห่งใหม่
ไฟเริ่มลุกไหม้บนดาดฟ้าเรือเมื่อช่วงบ่ายวันศุกร์ที่ 16 ส.ค. ก่อนเจ้าหน้าที่จะดับเพลิงได้ใน 24 ชั่วโมงต่อมา ก่อนจะมีการเผยแพร่ภาพแสดงให้เห็นความเสียหายบริเวณโครงสร้างส่วนบนของเรือ และเหล็กไหม้ดำบริเวณกราบข้าง ใต้ดาดฟ้าเรือ โดยเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นยืนยันว่า ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บในเหตุการณ์นี้ และพวกเขากำลังสืบสวนหาสาเหตุ
ทั้งนี้ เรือบรรทุกเครื่องบิน มินสก์ เคยเป็นสมาชิกในกองเรือรบของสหภาพโซเวียตตั้งแต่ปี 2521 จนกระทั่งโซเวียตล่มสลายในปี 2534 เรือลำนี้จึงกลายเป็นของกองทัพเรือรัสเซีย ก่อนที่มันจะถูกปลดประจำการในปี 2536 ซึ่งรัสเซียขาย มินสก์ กับเรือน้องของมันชื่อว่า “โนโวรอสซีสก์” (Novorossiysk) ให้แก่บริษัทสัญชาติเกาหลีใต้
เรือโนโวรอสซีสก์ถูกแยกชิ้นส่วน ที่ท่าเรือโพฮัง ของเกาหลีใต้ แต่เกิดกระแสต่อต้านอย่างรุนแรงจากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทำให้ มินสก์ถูกขายต่อให้บริษัทจีน และถูกนำไปดัดแปลงเป็นจุดศูนย์กลางของสวนสนุก “มินสก์ เวิลด์” (Minsk World) ในนครเซินเจิ้น ซึ่งเปิดในปี 2543
...
อย่างไรก็ตาม ธีมปาร์คแห่งนี้ประสบปัญหาทางการเงิน และปิดตัวลงในปี 2559 ทำให้เรือมินสก์ถูกขายต่ออีกหลายทอด จนกระทั่งมันถูกขนย้ายไปยังแม่น้ำใกล้เมืองหนานทงอย่างในปัจจุบัน เพื่อดัดแปลงให้เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวของธีมปาร์คแห่งใหม่ แต่โครงการยังยืดเยื้อมาจนถึงทุกวันนี้ และไหม้ล่าสุดทำให้สถานการณ์ของโครงการเริ่มไม่แน่นอนแล้ว
อนึ่ง มินสก์ยังมีเรือพี่น้องอีก 2 ลำคือ เคียฟ ซึ่งตอนนี้เป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวที่สวนสนุก “ปินไห่ แอร์คราฟท์ แคร์ริเออร์” (Binhai Aircraft Carrier) ที่เมืองเทียนจิน บริเวณชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน
ส่วนอีกลำคือ “บาคุ” (Baku) ซึ่งเป็นเพียงลำเดียวในเรือ 4 พี่น้องที่ยังคงถูกใช้งานอยู่ โดยมันถูกขายให้แก่อินเดีย ในปี 2547 ผ่านการดัดแปลงและเข้าประจำการในกองทัพเรืออินเดียเมื่อปี 2556 ในชื่อ “ไอเอ็นเอส วิกรมทิตยา” (INS Vikramaditya)
ติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreign
ที่มา : cnn