การเยือนเกาหลีใต้เมื่อปลายเดือน มิ.ย. ตามคำเชิญจากกระทรวงวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยวของเกาหลีใต้ ทำให้มีโอกาสได้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ฮันกึลแห่งชาติ (National Hangeul Museum) ให้ทีมข่าวต่างประเทศไทยรัฐ กระจ่างยิ่งขึ้นเกี่ยวกับภาษาเกาหลี ในวาระครบรอบ 10 ปี การก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ จึงมีการจัดนิทรรศการพิเศษ “Dialect, Can’t Resist!” ในหัวข้อ “ซาทูรี” หรือ “ภาษาถิ่น” ที่จัดแสดงถึง 13 ต.ค.นี้

ภายในนิทรรศการปูพื้นให้เข้าใจง่ายๆ ว่าภาษาถิ่นบนคาบสมุทรเกาหลีแบ่งเป็น 6 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคกลาง (กรุงโซล, นครอินชอน, จ.คยองกี, จ.ชุงชอง, จ.คังวอนตะวันตกของเกาหลีใต้, จ.ฮวังแฮ และ จ.ฮัมกยองใต้ของเกาหลีเหนือ) ภาคตะวันออกเฉียงใต้ (จ.คยองซัง และ จ.คังวอนตะวันออกของเกาหลีใต้) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จ.ฮัมกยองเหนือ และตอนบนของ จ.ฮัมกยองใต้ของเกาหลีเหนือ) ภาคตะวันตกเฉียงใต้ (จ.ชอลลาของเกาหลีใต้) ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ (จ.พยองอันของเกาหลีเหนือ) และเกาะเชจูในเกาหลีใต้

ส่วนภาษาเกาหลีที่ใช้ในจีน และภาษาโครยอมัล ที่ใช้ในตอนกลางของทวีปเอเชีย (กลุ่มชาติพันธุ์เกาหลีที่อาศัยในพื้นที่อดีตสหภาพโซเวียต) ก็จัดเป็นหนึ่งในสำเนียงของภาษาเกาหลี

ใครที่สงสัยว่า ภาษาในแต่ละท้องถิ่นแตกต่างกันอย่างไร? คุณ มุน ยองอึน ผู้ดูแลนิทรรศการเผยว่า ในทางสัทวิทยาหรือระบบเสียง จะแยกชัดเจนที่ระดับความสูงต่ำ ความสั้นยาวของการออกเสียง ขณะที่คำศัพท์ในบางพื้นที่ บางคำก็ไม่อาจแปลเทียบความหมายกับภาษาในท้องถิ่นอื่นๆ หรือภาษามาตรฐานได้ เช่น คำว่า “เปรี้ยว” ใน จ.คยองซัง คือ “แซกือรอบตา” ใช้อธิบายรสชาติเปรี้ยวจากส้ม มะนาว ฯลฯ แต่ภาษามาตรฐานจะใช้คำว่า “ชีดา” และบางพื้นที่ก็มีการแสดงออกทางภาษาที่แตกต่าง เช่น จ.ชุงชองมักใช้คำบรรยายด้วยภาพแทนการสื่อสารออกมาโดยตรง ส่วน จ.คยองซังจะสื่อสารตรงไปตรงมา เน้นกระชับ

...

แล้วภาษาเกาหลีใต้และเกาหลีเหนือแตกต่างกันอย่างไร? คุณมุนอธิบายว่าทั้ง 2 ประเทศมีความคล้ายคลึงกันในการใช้น้ำเสียงและคำศัพท์แต่ก็ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว เพราะการแบ่งแยกเป็นเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ ทำให้การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมเป็นไปอย่างจำกัด แต่ละฝ่ายจึงรักษาลักษณะเฉพาะของภาษาไว้ได้ แต่เกาหลีเหนือจะเลี่ยงการใช้คำภาษาต่างประเทศ ตามนโยบายให้เน้นภาษาดั้งเดิมโดยใช้ภาษาแบบเดียวกันกับที่ใช้ในกรุงเปียงยาง แต่ภาษาเกาหลีเหนือในปัจจุบันก็ได้รับอิทธิพลจากภาษารัสเซียเช่นกัน

ส่วนภาษาในเกาหลีใต้ค่อนข้างเปิดกว้าง มีการใช้คำและยืมคำภาษาจีน-เกาหลี (Sino-Korean) อย่างแพร่หลาย มีการผลิตและสร้างคำใหม่เกิดขึ้นเสมอ ถ้ามองในแนวภูมิศาสตร์จะพบว่าความคล้ายคลึงในการใช้ภาษาท้องถิ่นและสำเนียงจะเป็นจากฝั่งตะวันออกมุ่งสู่ฝั่งตะวันตกของประเทศ มากกว่าจากเหนือลงใต้ อธิบายให้เห็นภาพก็คือ ภาษาที่ใช้ในกรุงโซล (ทางตะวันตกเฉียงเหนือ) กับภาษาในนครปูซาน (ทางตะวันออกเฉียงใต้) จะต่างกันน้อยกว่าเมื่อนำภาษาที่ใช้ในโซลไปเทียบกับภาษาที่ใช้ในเปียงยาง แต่สำเนียงและโทนเสียงของโซลกับเปียงยางจะคล้ายกันมากกว่าเมื่อเทียบกับปูซาน

ขณะที่ดินแดนในเกาหลีใต้ที่ผู้คนพูดภาษาสำเนียงเดียวกันหรือคล้ายกับเกาหลีเหนือคือ เกาะแพคนยองโด และเกาะยอนพยองโด ในนครอินชอน ที่มีอาณาเขตใกล้กับทางตะวันตกของเกาหลีเหนือ ผู้คนจะพูดสำเนียงเดียวกับภาษาถิ่นฮวังแฮ ส่วนที่เมืองซกโซและเมืองโกซอง ทางตะวันออกของ จ.คังวอนที่มีชาวเกาหลีเหนือตั้งถิ่นฐานอยู่มากก็พูดด้วยสำเนียงที่คล้ายกับเกาหลีเหนือเช่นกัน

คุณมุนย้ำว่า แม้แต่ละพื้นที่จะมีสำเนียงต่างกัน แต่ภาษาเกาหลีก็คือภาษาที่ทั้ง 2 ชาติใช้ร่วมกัน ครั้งหนึ่งเกาหลีมองว่าการรวบรวมข้อมูลเพื่อให้ได้มาตรฐานภาษาเกาหลีเป็นสิ่งสำคัญในกระบวนการพัฒนาและรวมชาติ เพราะเคยอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่นมาก่อน อิทธิพลจากสื่อและการศึกษายังทำให้ภาษาถิ่นถูกมองในแง่ลบ บวกด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป อิทธิพลทางวัฒนธรรมจากภายนอกก็หลั่งไหลมาอย่างรวดเร็ว ทำให้เอกลักษณ์ของภาษาถิ่นในแต่ละท้องที่ค่อยๆสูญหายไป จึงต้องหมั่นใช้ในชีวิตประจำวันและบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร รวมถึงการเผยแพร่ความหลากหลายของมรดกด้านภาษา อย่างนิทรรศการพิเศษที่จัดขึ้นในครานี้

ก่อนจากกัน คุณมุนทิ้งท้ายด้วยประโยคจากมาร์ติน ไฮเด็กเกอร์ นักปรัชญาชาวเยอรมันว่า Language is the house of being หรือ ภาษานำมาซึ่งชีวิต เพราะเป็นศูนย์กลางการสร้างอัตลักษณ์และแสดงออกถึงตัวตนของเรา การได้พบปะคนที่พูดภาษาเดียวกันช่วยสร้างความรู้สึกผูกพันและใกล้ชิดระหว่างกัน ดังนั้นภาษาถิ่นจึงยังเป็นอีกเครื่องมืออันทรงพลังที่สร้างความกลมเกลียวในสังคม.


ทีมข่าวต่างประเทศ

คลิกอ่านคอลัมน์ “7 วันรอบโลก” เพิ่มเติม