• เกาหลีใต้จี้ค่ายรถยนต์ EV เปิดเผยยี่ห้อของแบตเตอรี่ที่ใช้อยู่ เพื่อเร่งฟื้นความเชื่อมั่นผู้บริโภค หลังจากเกิดเหตุรถยนต์ไฟฟ้าระเบิดในที่จอดรถของอพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งในเมืองอินชอน จนเกิดเพลิงไหม้ลุกลามไปยังรถยนต์คันอื่นอีกกว่า 100 คัน และต้องใช้เวลาถึงกว่า 8 ชั่วโมง จึงจะสามารถควบคุมเพลิงได้
  • เหตุการณ์ไฟไหม้รถยนต์ไฟฟ้าที่เกิดขึ้นได้จุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์และสร้างความกังวลอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับความปลอดภัยในการจอดรถยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะในอาคารที่พักอาศัยแนวสูง ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของประชาชนส่วนใหญ่ในเกาหลีใต้
  • เหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งนี้มีขึ้นในช่วงที่ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกกำลังชะลอตัวอยู่แล้ว ยิ่งตอกย้ำความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า และมีผลต่อการตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้าของผู้บริโภคในเวลานี้

สืบเนื่องจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่รถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ไฟฟ้า รุ่น EQE sedan เกิดไฟไหม้ แม้ไม่ได้เสียบสายชาร์จ ในลานจอดรถใต้ดินของอาคารชุดแห่งหนึ่งในอินชอน ทางตะวันตกของกรุงโซล ทำให้ต้องเร่งอพยพประชาชนกว่า 200 ครอบครัว และมีผู้ได้รับบาดเจ็บส่งโรงพยาบาล 23 คน โดยเหตุเพลิงไหม้ยังได้ลุกลามสร้างความเสียหายต่อรถยนต์ประมาณ 140 คันที่จอดอยู่

...

ข่าวนี้ได้สร้างความตื่นตระหนกให้แก่ผู้ใช้งานรถไฟฟ้าจำนวนมากทั้งในเกาหลีใต้และทั่วโลก เพราะกังวลเรื่องความปลอดภัยจากการใช้รถยนต์ชนิดนี้ นอกจากความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วยังส่งผลให้ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ เมอร์เซเดส-เบนซ์เกาหลีใต้ ต้องออกมาแถลงการณ์ยืนยันว่าจะให้ความร่วมมือกับทางการอย่างเต็มที่ในการสอบสวนหาสาเหตุของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบกับรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์อื่นๆ อย่าง เทสลา ที่มีการถกเถียงกันอย่างดุเดือดในกลุ่มชุมชนออนไลน์ของเทสลา เกี่ยวกับการยกเลิกคำสั่งซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ตามมาด้วยเสียงร้องเรียนจากผู้ใช้บางรายที่ประสบปัญหาในการใช้บริการที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้า จนทำให้รัฐบาลเกาหลีใต้อยู่เฉยไม่ได้ และต้องขอความร่วมมือค่ายรถยนต์ทุกเจ้าให้เปิดเผยข้อมูลของโรงงานแบตเตอรีที่ใช้ เพื่อให้เกิดความสบายใจแก่ผู้ใช้งาน

สถิติเพลิงไหม้รถยนต์ EV ในเกาหลีใต้

ตามรายงานล่าสุดของ สำนักงานดับเพลิงแห่งชาติของเกาหลีใต้ ในปี 2566 พบว่า จำนวนเหตุการณ์ไฟไหม้รถยนต์ทั้งรถยนต์เครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงและรถยนต์ไฟฟ้าได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา แม้ว่าจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าจะยังมีสัดส่วนน้อยกว่าก็ตาม โดยจำนวนของรถไฟฟ้าที่เกิดไฟไหม้มี 24 เหตุการณ์ ในปี 2021 เพิ่มขึ้นมาเป็น 43 เหตุการณ์ ในปี 2022 และเพิ่มเป็น 72 เหตุการณ์ ในปี 2023 ซึ่งการที่ไฟไหม้รถไฟฟ้าดับได้ยากก็เลยทำให้ความเสียหายรุนแรงเป็นวงกว้างกว่า เหมือนกับเหตุไฟไหม้ที่เมืองอินชอนที่เพิ่งเกิดขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญด้านรถยนต์ต่างระบุตรงกันว่า การดับเพลิงไหม้รถยนต์ไฟฟ้านั้นมีความยุ่งยากและใช้เวลานานกว่ารถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิง ส่วนผู้ที่ดับเพลิงจะต้องมีความเชี่ยวชาญพิเศษ เนื่องจากแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนในรถยนต์ไฟฟ้าเมื่อเกิดการลุกไหม้ จะเผาไหม้ที่อุณหภูมิสูงกว่า และระยะเวลานานกว่าไฟที่เกิดจากน้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้การดับเพลิงเป็นเรื่องยาก

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้อาคารสำนักงานหลายแห่งได้ประกาศห้ามรถยนต์ไฟฟ้าเข้าและจอดรถแล้ว รวมไปถึงแนะนำให้เจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าระมัดระวังเมื่อชาร์จรถยนต์ เนื่องจากสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในโรงจอดรถใต้ดินของอาคาร ซึ่งหากเกิดเหตุไฟไหม้ขึ้นจะเป็นอันตรายต่อทั้งทรัพย์สินและชีวิตผู้คน

ปฏิกิริยาค่ายรถยนต์ต่อการเปิดเผยข้อมูลโรงงานแบตเตอรี่

ค่ายรถยนต์อย่าง ฮุนได มอเตอร์ ได้ออกมาตอบสนองด้วยความรวดเร็ว ด้วยการเปิดเผยชื่อโรงงานที่ผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าทุกรุ่น โดยระบุว่านี่เป็นสิทธิที่สาธารณชนควรรู้ โดยรถฮุนไดรุ่น 13 อีวี จะเป็นรถรุ่นเดียวที่ใช้แบตเตอรี่ CATL จากจีน ขณะที่รถอีวีรุ่นอื่นๆ จะใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตภายในประเทศ 

...

ส่วนรถยี่ห้อ KIA จะมีการเปิดเผยชื่อโรงงานผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถอีวีรุ่นต่างๆ เร็วๆ นี้ 

ด้านเมอร์เซเดซ เบนซ์ บริษัทต้นเรื่อง สื่อบางแห่งรายงานว่า ทางบริษัทยังคงสงวนท่าทีที่จะเปิดเผยชื่อโรงงานแบตเตอรี่ที่ใช้ โดยระบุว่า ไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะเป็นความลับทางการค้า ขณะที่บางสื่อระบุว่า เบนซ์ ยอมกลับลำที่จะเปิดเผยข้อมูลโรงงานแล้ว พร้อมยื่นข้อเสนอให้ลูกค้าสามารถนำรถยนต์ไฟฟ้าเข้าไปตรวจสอบที่ศูนย์ได้ นอกจากนี้ทางบริษัทยังประกาศแผนที่จะบริจาคเงินราว 4,500 ล้านวอน หรือราว 115 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุรถยนต์ไฟฟ้าระเบิดในครั้งนี้ด้วย แม้ว่าการสอบสวนจะยังไม่แล้วเสร็จก็ตาม

ขณะที่ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่หลายค่ายทั้ง เทสลา อาวดี้ และโฟล์คสวาเกน ยังคงยืนยันที่จะไม่เปิดเผยข้อมูล โดยให้เหตุผลเรื่องความลับทางธุรกิจ ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าอาจจะเป็นเพราะค่ายรถเหล่านี้พยายามหลีกเลี่ยงข้อเท็จจริงที่ว่าพวกเขาใช้แบตเตอรี่ต้นทุนต่ำจากจีน

ใครได้ประโยชน์จากการเปิดเผยข้อมูล

ถึงแม้ว่าการเปิดเผยชื่อโรงงานผู้ผลิตแบตเตอรี่อาจจะไม่ใช่วิธีป้องกันการเกิดไฟไหม้ได้โดยตรง แต่การที่ผู้บริโภคได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับโรงงานผลิตแบตเตอรี่ ก็จะทำให้ทราบคุณภาพของแบตเตอรี่ที่ใช้งาน ประวัติการเกิดเหตุไฟไหม้ที่เคยเกิดขึ้นกับแบตเตอรี่นั้นๆ เพื่อให้พวกเขาได้เตรียมพร้อมรับมือกับความเสี่ยงได้มากขึ้น และดูเหมือนว่าปัจจุบันการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโรงงานแบตเตอรี่อีวีของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ก็ดูเหมือนจะเป็นมาตรฐานที่ทำกันทั่วโลกอยู่แล้ว 

...

ยกตัวอย่างเช่นประเทศจีนที่เริ่มมีการยกระดับมาตรฐานความโปร่งใสแบบนี้มาตั้งแต่ปี 2018 ขณะที่รัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกา และยุโรป เตรียมกำหนดให้มีการเปิดเผยโรงงานผลิตแบตเตอรี่ตามกฎหมาย ภายในปี 2026 และปี 2027 ตามลำดับ

ขณะที่ OECD หรือ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาได้ให้คำจำกัดความว่า การปกปิดชื่อโรงงานที่ผลิตแบตเตอรี่ หรือแหล่งผลิตดั้งเดิม ถือเป็นข้อปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม และทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด

การที่รัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศมาตรการให้ผู้ผลิตรถยนต์ทั้งในประเทศและต่างประเทศเปิดเผยโรงงานที่ผลิตแบตเตอรี่ จึงถือเป็นการนำร่อง เผยความโปร่งใสในกระบวนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้แก่ผู้บริโภค เพื่อให้สาธารณชนได้มั่นใจว่าจะได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ไฟไหม้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างถูกต้อง ทั้งชนิดของรถยนต์ รวมทั้งโรงงานผู้ผลิตแบตเตอรี่ที่เกี่ยวข้องด้วย โดยปัจจุบันมีผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในเกาหลีใต้มากกว่า 500,000 คัน ที่ควรจะต้องทำความเข้าใจถึงโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดเพลิงไหม้รถยนต์ของพวกเขาได้ และจะได้เป็นแนวทางในการตัดสินใจให้แก่ผู้ที่สนใจจะเป็นเจ้าของรถไฟฟ้าในอนาคตได้พิจารณารถยี่ห้อต่างๆ ได้ดีขึ้น เพราะปัจจุบันก็มีรถไฟฟ้าจากค่ายเก่าค่ายใหม่อยู่มากมายหลายยี่ห้อให้เลือกซื้อหา ท่ามกลางการแข่งขันทางด้านราคา แต่ผู้บริโภคกลับแทบจะไม่มีข้อมูลทางด้านความปลอดภัยมากเท่าใดนัก.

ผู้เขียน : อาจุมมาโอปอล

ที่มา : Bloomberg ,Chosuninsideev.com

...


คลิกอ่านข่าวเกี่ยวกับ รถยนต์ไฟฟ้า