ความรู้สึกของพวกเราที่ไปพำนักพักอาศัยในอังกฤษช่วงสั้นๆ ติดต่อกัน ตั้งแต่ ค.ศ.1993 จนถึงปัจจุบัน สัมผัสถึงความเข้ากันไม่ได้ของผู้คนอังกฤษที่มาจากดินแดนต่างๆ ที่อพยพมาอยู่ในอังกฤษจนได้สัญชาติ เผินๆเหมือนกับว่าคนอังกฤษส่วนใหญ่ยอมรับคนผิวสี และคนนับถือศาสนาอื่นที่ไม่ใช่ศาสนาคริสต์ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะดูเพียงผลการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีลอนดอนที่เป็นมุสลิม มีภูมิหลังจากปากีสถาน (นายซาดิก ข่าน) และอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่แล้วของอังกฤษ ที่นับถือศาสนาฮินดูมีภูมิหลังจากอินเดีย (นายริชี ซูแน็ก)
พวกขวาจัดซึ่งเป็นพวกเหยียดผิวและต่อต้านมุสลิมกระโจมโหมข่าว และปฏิบัติการจิตวิทยาให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งในอังกฤษ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีชายผิวขาวเป็นร้อยวิ่งไปทะเลาะเบาะแว้งกับตำรวจ ทุบหน้าต่างโรงแรม ที่รับรองผู้ลี้ภัย พร้อมตะโกนว่า ‘เอาพวกมันออกไป’ จากนั้นก็วิ่งเอาก้อนหินเที่ยวไล่ปาใส่มัสยิด
การกระทำของพวกเหยียดผิวและพวกขวาจัดทำให้พวกที่ไม่เห็นด้วยออกมาประท้วงและสร้างความรุนแรงกลับ พวกที่ออกมาลุยรอบหลังเป็นพวกต่อต้านการเหยียดผิว ต่อต้านฟาสซิสต์ และจำนวนไม่น้อยเป็นชาวอังกฤษที่นับถือศาสนาอิสลาม
การปะทะกันอย่างรุนแรงทำให้สังคมอังกฤษไม่น่าอยู่ อันตราย คนที่ไม่ใช่ชาวผิวขาวจะโดนเตะ โดนต่อย โดนทุบเมื่อใดก็ไม่รู้ ดำเนินชีวิตในแต่ละวันด้วยความเสี่ยง
เหตุร้ายสมัยนี้ หลายครั้งเกิดจากการที่โซเชียลมีเดียลงข้อมูลเท็จ หรือข้อมูลไม่ครบ อย่างกรณีที่เกิดในอังกฤษปัจจุบัน เริ่มเมื่อ 29 กรกฎาคม 2024 มีคนไปกระจายข่าวว่าชายชาวมุสลิมแทงเด็กหญิง 3 คน จนตายในชั้นเรียนสอนเต้นและโยคะที่เมืองเซาท์พอร์ต
ตำรวจรู้ว่าคนทำไม่ใช่มุสลิม แต่ก็เงียบ ทำให้เหตุการณ์บานปลาย การฆาตกรรมที่เซาท์พอร์ตครั้งนี้ทำโดย อาเซล มูกันวา รูดาคูบานา อายุ 17 ปี นายคนนี้เกิดที่คาร์ดิฟ เมื่อ ค.ศ.2006 พ่อแม่ อาเซลอพยพมาจากรวันดา เป็นครอบครัวที่นับถือศาสนาคริสต์
...
สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งอังกฤษ ทรงมีพระราชดำรัสให้คนอังกฤษเคารพและเข้าใจซึ่งกันและกัน พระองค์ทรงขอบใจตำรวจและหน่วยบริการฉุกเฉินที่พยายามฟื้นฟูความสงบเรียบร้อยในเมือง และทรงยินดีที่ชุมชนต่างๆ ออกมาช่วยกันต่อต้านความรุนแรงก้าวร้าว และต่อต้านการก่ออาชญากรรม
ไม่ใช่เฉพาะอังกฤษดอกครับ ท่านที่เดินทางบ่อยๆ และคลุกคลีกับคนท้องถิ่น จะพบความขัดแย้งนี้เกิดขึ้นแทบทุกประเทศในยุโรป สวีเดน เดนมาร์ก เยอรมนี ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม ฯลฯ แม้ว่าไปในเมืองต่างๆ แต่ละครั้งเพียง 10-20 วัน แต่ก็รู้สึกกลัวความขัดแย้งรุนแรงในประเทศเหล่านี้ในอนาคต
ผู้อพยพจากอูเครน ตะวันออกกลาง แอฟริกา และเอเชียในทวีปยุโรปมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่น่าแปลกใจก็คือ แม้ในสภาวะแวดล้อมที่ไม่พร้อมและลำบาก แทนที่จะจำกัดจำนวนสมาชิกในครอบครัวให้มีจำนวนน้อยและอยู่รอดปลอดภัยไว้ก่อนผู้อพยพ จำนวนหนึ่งกลับเร่งรีบผลิตลูก ออกหลาน
เคยอ่านข้อมูลขององค์กรที่ไปหาข้อมูลทางด้านผู้อพยพและจำนวนลูกหลานผู้เกิดใหม่ แล้วก็พยายามนึกถึงสาเหตุจูงใจที่ทำให้คนเหล่านี้ขยายจำนวนสมาชิกในครอบครัวให้มากขึ้น
โซเชียลมีเดียทำให้เกิดการปะทะกันได้ง่าย แค่เขียนคอมเมนต์เข้าไปด่ากันตามโพสต์ด้วยการใช้คำพูดที่ไม่ให้เกียรติ ก็ขัดแย้งกันได้แล้ว ต่อไปในอนาคต ศาสนา เชื้อชาติ และเผ่าพันธุ์ จะเป็นประเด็นที่ทำให้มนุษย์รบกัน ไม่ใช่เรื่องอุดมการณ์หรือผลประโยชน์ของชาติเหมือนสาเหตุของสงครามในศตวรรษที่แล้ว
คนที่เดินทางไปท่องเที่ยวในทวีปยุโรป จำนวนหนึ่งมีประสบการณ์ด้านลบ บางคนถูกลักทรัพย์ ถูกปล้น ถูกทำร้ายร่างกาย โดยที่ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน เท่าที่ทราบ ไปแจ้งความแต่ก็ไม่เคยจับผู้ร้ายได้
บางท่านอ่านข่าวพวกนี้แล้วไม่สนใจ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องไกล ขอเรียนว่าควรสนใจและช่วยกันคิดหาทางแก้ไข เพราะวันใดวันหนึ่งในอนาคต อาจจะกลายเป็นประเด็นความขัดแย้งในสังคมของเราก็ได้.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com
คลิกอ่านคอลัมน์ "เปิดฟ้าส่องโลก" เพิ่มเติม