กลายเป็นประเด็นสงสัยในแวดวงความมั่นคงตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังกองทัพยูเครนตัดสินใจบุกโจมตีจังหวัด “คูร์สก์” ของรัสเซีย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

โดยเป็นแนวรบที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับสมรภูมิอันยืดเยื้อใน “4 จังหวัด” ทางภาคตะวันออกและภาคใต้ของยูเครน แต่ก็ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งแรก เพราะก่อนหน้านี้กองทัพยูเครนก็เคยส่งหน่วยรบแทรกซึมตามแนวพรมแดนดั้งเดิมของรัสเซียอยู่เป็นระยะๆ

ปฏิบัติการที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเวลา 08.00 น. ของวันที่ 6 ส.ค. มีความเข้าใจในช่วงแรกว่า คงเป็นการตีแหย่ตามปกติ อีกไม่นานก็คงถอนกำลัง กลับไปหลังเจอแนวยิงสกัดกั้น ประกอบกับทางกระทรวงกลาโหมรัสเซียก็ออกแถลงการณ์เช่นนั้น ว่าไม่มีอะไรในก่อไผ่ “กองทัพยูเครนกำลังถูกถล่มด้วยเครื่องบินและปืนใหญ่”

อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงได้ถูกเปิดเผยจากบรรดาผู้สื่อข่าวสงครามในภาคสนามว่า สถานการณ์ครั้งนี้ไม่เหมือนกับครั้งที่ผ่านๆมา กองทัพยูเครนได้ตัดสินใจทุ่มกำลังหลายกองพันเข้ามาในพื้นที่ และทำให้แนวป้องกันของรัสเซียถูกทะลวงหลายจุด จนสามารถกินแดนลึกเข้าไปในรัสเซียเป็นระยะทางกว่า 15 กิโลเมตร

ตามมาด้วยชื่อของหน่วยรบยูเครนที่เข้าร่วมปฏิบัติการ ไม่ว่าจะเป็นกองพันยานเกราะที่ 22 กองพันยานเกราะที่ 88 รวมถึงหน่วยรบหัวกะทิ “กองพันพลร่มจู่โจมที่ 80” ที่ขึ้นชื่อเรื่องการบุกทะลวงอย่างรวดเร็ว ซึ่งสอดคล้องกับรายงานภาคสนามว่า กองทัพยูเครนเน้นการบุกอย่างเดียว ไม่ทิ้งทหารไว้ยึดครอง

กระนั้น คำถามที่เกิดขึ้นคือ ฝ่ายยูเครนต้องการอะไรจากปฏิบัติการครั้งนี้ หลังจาก 5 วันผ่านไปกองทัพรัสเซียก็เริ่มตั้งตัวติด และเคลื่อนกำลังเสริมเข้ามายับยั้งการบุกของยูเครนเป็นจำนวน 3 กองพล

...

มีการตั้งทฤษฎีต่างๆนานาว่า ยูเครนอาจต้องการให้รัสเซียโยกย้ายกำลังจากแนวรบอื่น หรืออาจต้องการแสดงให้ตะวันตกเห็นว่ายูเครนยังไม่ได้หมดแรง หรืออาจต้องการเข้ายึดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของรัสเซีย แต่ทั้งนี้ ทุกทฤษฎีที่กล่าวมา มีประเด็นต่อท้ายที่เหมือนกันหมดคือ “เพื่อเพิ่มแต้มต่อในการเจรจาต่อรองหย่าศึก ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต” ซึ่งจะถูกต้องหรือไม่ เป็นเรื่องควรติดตาม.

ตุ๊ ปากเกร็ด

คลิกอ่านคอลัมน์ "หน้าต่างโลก" เพิ่มเติม