อิสราเอลพิจารณามาตั้งแต่การถูกถล่มด้วยขีปนาวุธและโดรนพิฆาตครั้งแรกเมื่อเดือน เม.ย. ว่าสมควรหรือไม่ที่กองทัพจะดำเนินการตอบโต้ หากอิสราเอลเผชิญกับการโจมตีรอบใหม่
“ออร์นา ซากิฟ” เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย กล่าวอย่างหนักแน่น ระหว่างนั่งสนทนากับทีมข่าวประเทศหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ในห้องทำงานถนนอโศกมนตรี ถึงสถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาคตะวันออกกลาง ที่ดูเหมือนจะทวีความรุนแรงขึ้นอีก หลังจากเกิดเหตุสังหารอิสมาอิล ฮานิเยห์ ผู้นำฝ่ายการเมืองกลุ่มฮามาสในกรุงเตหะราน ซึ่งทำให้อิหร่านประกาศจุดยืนว่า จำเป็นต้องสั่งสอนอิสราเอลเหมือนกับคราวก่อน
รัฐบาลอิสราเอลไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าการโจมตีจะเกิดขึ้นเมื่อใด ขอเรียนว่าอิสราเอล ณ ตอนนี้กำลังรับมือกับสถานการณ์ “7 แนวรบ” ไล่ตั้งแต่ เลบานอน ซีเรีย อิรัก อิหร่าน เวสต์แบงก์ ฉนวนกาซา และเยเมน” โดยมีอิหร่านเป็นหัวงูใหญ่ ให้การสนับสนุนเครือข่ายความมั่นคงเหล่านี้ ถามว่าหากอิสราเอลถูกโจมตีจริงๆแล้วจะโจมตีกลับไหม เราไม่ต้องการสงครามใหญ่ในภูมิภาค
แต่ขอย้ำเสมอว่าอิสราเอลมีสิทธิในการป้องกันตนเอง
เช่นเดียวกับสถานการณ์ทางพรมแดน “เลบานอน” ทางภาคเหนือของอิสราเอล ที่เราก็ไม่ได้อยากสู้รบแต่จำเป็นต้องเข้าควบคุมสถานการณ์ ไม่นานมานี้เราเพิ่งปฏิบัติการสังหารแกนนำกองกำลังติดอาวุธ “เฮซบอลเลาะห์” นามว่า “ฟาอูด ชูกูร์” เพื่อย้ำเตือนว่าอิสราเอลจะไม่นิ่งเฉย ต่อเหตุยิงจรวดโจมตีพลเรือนในที่ราบสูงโกลัน ที่ทำให้เด็กๆและวัยรุ่นเสียชีวิต 12 ศพ อีกทั้งแกนนำรายนี้ก็เคยถูกชาติตะวันตกหมายหัว 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หลังอยู่เบื้องหลังการสังหารกองกำลังรักษาความสงบนานาชาติ (อเมริกัน -ฝรั่งเศส) ในเลบานอน เกือบ 300 คน
...
เชื่อว่ารัฐบาลเลบานอนทราบดีว่า กำลังถูกใช้ดินแดนเป็นฐานต่อสู้กับอิสราเอล มีความหวังว่าสถานการณ์ครั้งนี้จะคลี่คลายลง แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ รัฐบาลอิสราเอลก็จำเป็นต้องดำเนินการโจมตีเลบานอนเหมือนกับฉนวนกาซา และจะถล่มอย่างหนักหน่วงด้วย เพราะถือเป็นความรับผิดชอบที่ไม่ยอมทำอะไร ปล่อยให้กลุ่มก่อการร้ายเฮซบอลเลาะห์เคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ
สำหรับประเด็นฉนวนกาซา ทูตซากิฟอธิบายว่า อิสราเอลยังคงพยายามอย่างยิ่งในการตามหาตัวประกันทั้งหมด รวมถึงตัวประกันคนไทยที่เหลืออยู่ 6 คน ตราบใดที่ยังไม่พบหลักฐานยืนยัน 100% เรื่องการเสียชีวิต เราจะถือว่าทุกคนยังมีชีวิตอยู่ และต้องพากลับบ้านให้ได้ พร้อมจะดำเนินการต่อไปในเรื่องการกำจัดกองกำลังติดอาวุธปาเลสไตน์กลุ่ม “ฮามาส” ที่ล่าสุดอยู่ภายใต้บัญชาการของ “ยะห์ยา ซินวาร์” ให้หมดไปอย่างสิ้นเชิง เพื่อไม่ให้เหตุการณ์สะเทือนขวัญวันที่ 7 ต.ค.2566 ต้องเกิดขึ้นอีกซ้ำสอง
ถามว่า ฮามาสคือไอเดียจะกำราบได้อย่างไร? ขอตอบว่าเป็นเรื่องยากมากที่จะกำจัดอุดมการณ์หรือแนวคิด และถ้ายึดสิ่งนี้เป็นโจทย์ที่ต้องแก้ปัญหา ก็มองว่าสิ่งแรกที่ต้องทำคือทำลายโครงสร้างรากฐาน รื้อถอนอำนาจของกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา เหมือนกับการปราบพรรคนาซีในสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อทยอยลดแนวคิดหัวรุนแรงลงไปเรื่อยๆ ผ่านการทำงานร่วมกับฝ่ายปาเลสไตน์สายกลาง และนานาประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง
ยอมรับว่า กรณีนี้จะเป็นกระบวนการที่ยาวนาน กว่าที่ชาวปาเลสไตน์ทั้งหมดสามารถเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านทางสังคมและการศึกษา ไม่ได้บอกว่าให้มาชอบอิสราเอล ไม่จำเป็นต้องชอบอิสราเอล แต่เราสามารถอยู่ร่วมกันได้เหมือนช่วงก่อนสงคราม
ข้ามแดนมาทำงาน มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เลี้ยงดูครอบครัวให้มีความสุข
อิสราเอลเป็นประเทศเล็กๆ และเหมือนกับทุกประเทศที่อยากอยู่ร่วมกันอย่างสงบ เราไม่อยากเจออีกแล้วกับเหตุการณ์ที่คนไทยต้องเร่งรีบอพยพกลับภูมิลำเนาแบบโศกนาฏกรรมปีก่อน ตอนนี้ทางการได้วางมาตรการคุ้มครองแรงงานชาวไทยเพิ่มเติม เช่น การสร้างบังเกอร์หลบภัยเพิ่มเติมตามพื้นที่เกษตรกรรม ไว้รับมือกับการโจมตีรอบด้านและเพิ่มเวลาให้กับพลเรือนทุกคนในการหลบภัย
สิ่งที่ย้ำเสมอคือการปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด อย่าล้อเล่นกับระบบ เพื่อความปลอดภัยสูงสุด เราขอบคุณคนไทยที่มาทำงานในอิสราเอล และรู้สึกตื้นตันเป็นการส่วนตัว เวลาได้ยินเรื่องราวความผูกพันที่คนไทยมีให้ ไม่ยอมอพยพทอดทิ้งแปลงเกษตร โต้แย้งว่าแล้วใครจะดูแลวัว ดูแลพืชผล ตอนนั้นจำได้ว่าอพยพกลับไทยไปเกือบ 9,000 คน เหลืออยู่ในอิสราเอลประมาณ 21,000 คน มาตอนนี้จำนวนคนไทยที่ทำงานในอิสราเอลก็กลายเป็น 35,000 คนแล้ว ซึ่งเราหวังว่าจะมีการเจรจาต่อ ในเรื่องส่งคนไทยไปทำงานเพิ่มเติม
เช่นเดียวกับคนอิสราเอลรักคนไทย รักอาหารไทย และรักเมืองไทย เป็นสถานที่ปลอดภัยและเปี่ยมด้วยความเป็นมิตร ส่วนตัวเคยมาไทยครั้งแรกเมื่อปี 2533 ในรูปแบบสะพายเป้ แบ๊คแพ็คกิ้ง นอนห้องพักตรงถนนข้าวสาร ค่าห้องร้อยกว่าบาท ตอนนั้นเมืองไทยยังไม่ใช่สถานที่ยอดนิยม พ่อแม่ยังถามอยู่เลยว่าทำไมไม่ไปยุโรป มาวันนี้ความคิดเหล่านั้นได้เปลี่ยนไป คนอิสราเอลเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ช่วงก่อนและหลังโควิด-19 ยอดอยู่ที่ประมาณ 200,000 คนต่อปี มาปีนี้ดูจากตัวเลขแล้วเชื่อว่าจะเพิ่มเป็น 240,000 คน
ที่สำคัญนิสัยของชาวเรา คือชอบไปกันทั้งครอบครัว และถ้าชอบที่ไหนแล้วก็พร้อมจ่ายอย่างเต็มที่ ไม่ค่อยประหยัดกันเท่าไร จึงภาวนาเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกสิ่งทุกอย่างจะจบลงด้วยดี ได้กลับมาใช้ชีวิตกันตามปกติ ขอขอบคุณวันนี้ที่ทีมข่าวเข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกันนะคะ.
...
วีรพจน์ อินทรพันธ์
คลิกอ่านคอลัมน์ “7 วันรอบโลก” เพิ่มเติม