“การช่วยเหลือตัวประกันชาวไทยที่ยังเหลืออยู่ในฉนวนกาซา 6 คน ถือเป็นเรื่องที่กระทรวงการต่างประเทศให้ความสำคัญอย่างยิ่ง และนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน บัญชาให้เป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ”

“รัศม์ ชาลีจันทร์” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ อธิบายทีมข่าวต่างประเทศ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ถึงภารกิจการเดินสายเยือน 3 ประเทศ อียิปต์-อิสราเอล-กาตาร์ เป็นเวลา 5 วัน เมื่อช่วงปลายเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีขึ้นหลังจากได้ไปแสดงจุดยืนของประเทศไทยที่การประชุมระดับสูง เวทีสหประชาชาตินครนิวยอร์ก “เรียกร้องให้ทุกฝ่ายหยุดยิงโดยทันที”

เพราะตราบใดที่ยังหยุดยิงไม่ได้ ตัวประกันก็ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว

แน่นอนว่าเรื่องนี้ถือเป็นปัญหาระดับโลก มีความซับซ้อน ใช่ว่าจะแก้กันได้ง่ายๆ และเป็นที่มาว่าทำไมเราจึงต้องไปด้วยตัวเอง มันแสดงให้เห็นถึงการให้น้ำหนัก ให้ความสำคัญ มากกว่าการนัดหารือเจรจากันทางออนไลน์

การเยือนครั้งนั้น คณะกระทรวงการต่างประเทศเริ่มจากกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ที่เคยให้ความช่วยเหลือเรื่องรับตัวประกันข้ามพรมแดนฉนวนกาซาในเหตุการณ์ปล่อยตัวประกันผ่านด่านราฟาห์คราวก่อน โดยเราได้พบปะกับนายอิสมาอิล ไครัต ผู้ช่วยรัฐมนตรีด้านกิจการกงสุล กล่าวขอบคุณอย่างเป็นทางการ และขอความร่วมมือต่อไปในอนาคต ซึ่งก็มีเสียงตอบรับที่ดี นอกจากนี้ ไทยยังบริจาคเงินจำนวน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 3.6 ล้านบาท ให้แก่ “สภาเสี้ยววงเดือนแดง” Red Crescent

เพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวบ้านในฉนวนกาซาที่กำลังตกทุกข์ได้ยากจากสงคราม

จบตรงนี้ เราไปต่อที่ประเทศอิสราเอลทันที แต่เห็นสองประเทศนี้อยู่ติดกัน ก็ใช่จะสะดวก สถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศทำให้เราต้องย้อนกลับไปตั้งต้นที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เสียก่อน ไม่สามารถบินตรงๆได้ หมดเวลาเป็นวัน

...

แม้จะไม่ได้เตรียมการนัดหมายกันนานเท่าไร แต่เขาก็ต้อนรับเราเต็มที่ในฐานะแขกอย่างเป็นทางการ หารือกันที่กรุงเยรูซาเลมกับนายอิสราเอล คัตซ์ รัฐมนตรีต่างประเทศอิสราเอล เพื่อขอการสนับสนุนในการ “ตามหา” ตัวประกันชาวไทยที่เหลืออยู่ 6 คน

เพราะเรื่องของตัวประกันจะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าไม่ผ่านอิสราเอล และการนำตัวประกันทั้งหมดกลับบ้าน ถือเป็นเป้าหมายสำคัญของทางการอิสราเอล

ในโอกาสนี้ คณะกระทรวงต่างประเทศ ยังใช้เวลาเดินสายเยี่ยม “แรงงานชาวไทย” ในชุมชนเกษตรกรรม “คิบบุตซ์” ด้วยเช่นกัน “อยากจะบอกว่านายจ้างชาวอิสราเอลพูดภาษาไทยสำเนียงอีสานเก่งกว่าผมเสียอีก เขามองแรงงานไทยเหมือนสมาชิกครอบครัวมากกว่านายจ้างลูกจ้างถือ เป็นความสัมพันธ์ที่ Unique มีความพิเศษเฉพาะตัว”

จริงอยู่ที่เหตุการณ์บุกโจมตีวันที่ 7 ต.ค.2566 ทำเอาแรงงานไทย “เสียขวัญ” มากกว่าการโจมตีด้วยจรวดก่อนหน้านี้ครั้งไหนๆ แต่โศกนาฏกรรมดังกล่าวก็ได้พิสูจน์ว่าคนบ้านเราเป็นเช่นไร อีกทั้งพร้อมเรียนรู้การอยู่ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้ง ครั้งหนึ่งจำได้เลยว่าเอารถไปรับถึงที่ สุดท้ายไม่มีใครสมัครใจกลับบ้าน ต้องตีรถเปล่ากลับมา

สิ่งเหล่านี้กลายเป็นความตระหนักของทางอิสราเอลว่าแรงงานชาวไทยนี่แหละที่จำเป็นต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรม ถึงขนาดที่รัฐบาลกล่าวชี้แจงในสภาฯ

หากจะเพิ่มแรงงานต่างชาติ ควรจะเป็นแรงงานชาวไทย

ภารกิจการเดินสายช่วงปลายเดือน ก.ค. เราไปจบที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ เข้าหารือกับนายโมฮัมเหม็ด บิน อับดุลอาซิซ อัล-คุไลฟี รัฐมนตรีต่างประเทศแห่งรัฐกาตาร์ ที่ให้การต้อนรับคณะเจ้าหน้าที่ไทยในฐานะอาคันตุกะอย่างเป็นทางการ พร้อมให้การยืนยันว่า จะช่วยเหลือไทยอย่างเต็มที่ในเรื่องการเจรจาปล่อยตัวประกัน

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญที่ชัดเจนคือ การไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน ฝ่ายกาตาร์ใช้ความเป็นกลางไม่โอนเอียงไปทางไหน พยายามลดช่องว่าง แต่ยังทำไม่สำเร็จ

ไปคุยที่โดฮาพบกับตัวแทนกองกำลังติดอาวุธปาเลสไตน์กลุ่ม “ฮามาส” บ้างไหม? มองว่าเราไปคุยกับกาตาร์ก็เหมือนฝากสารไป เพราะออฟฟิศของฮามาสก็อยู่ที่นั่น คณะกระทรวงการต่างประเทศไม่ได้ไปพบกับตัวแทนฮามาสในการเดินทางครั้งนี้แต่อย่างใด

ส่วนสถานการณ์ที่กำลังทวีความตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆในภูมิภาคตะวันออกกลาง ทูตรัศม์ยังเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศได้จัดประชุมร่วมกับฝ่ายความมั่นคงและกระทรวงแรงงานรวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมรับมือกับสถานการณ์ความรุนแรงรอบใหม่ มีแผนอพยพในกรณีที่มีความจำเป็น ซึ่งรวมถึงการส่งเครื่องบินเช่าเหมาลำไปรับ

แต่ถ้าไม่รุนแรงถึงขั้นอิสราเอลรับมือไม่ไหว ก็เชื่อว่าคนไทยที่ต้องการกลับประเทศ อาจไม่มากเท่าเหตุการณ์โจมตีครั้งก่อน

ทั้งหมดทั้งปวงนี้ การเดินสายถามไถ่ความคืบหน้าเรื่องตัวประกันเมื่อปลายเดือน ก.ค. ได้ให้ความรู้สึกว่า ทุกประเทศ ยินดีที่จะร่วมมือกับไทย ซึ่งขั้นตอนต่อไปคือ การไปต่างจังหวัดด้วยตัวเองเพื่อเข้าพบปะกับญาติพี่น้องสมาชิกครอบครัวทั้งหมดของชาวไทยที่ยังตกเป็นตัวประกันทั้ง 6 คน

“ตราบใดที่ยังมีข้อมูลเพิ่มเติม ตราบใดที่ยังมีคนไทย เราต้องทำให้เต็มที่สุดความสามารถ ไม่มีทางที่จะทอดทิ้งใครไว้เบื้องหลัง”.

ทีมข่าวต่างประเทศ

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่

...