สำนักข่าวต่างประเทศรายงานบรรยากาศการชุมนุมประท้วงในอังกฤษ หลังก่อนหน้านี้มีข่าวแพร่สะพัดในอินเตอร์เน็ตชักชวนให้ผู้คนออกมาเดินขบวนขับไล่ผู้อพยพในเมือง 38 แห่งทั่วประเทศในวันที่ 7 ส.ค. ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจาก เหตุวัยรุ่นผิวสีอายุ 17 ปี ก่อเหตุไล่แทงเด็กในสตูดิโอซ้อมเต้นในเมืองเซาท์พอร์ตของอังกฤษ จนมีผู้เสียชีวิตเป็นเด็กหญิง 3 ศพ บาดเจ็บนับสิบรายเมื่อสัปดาห์ก่อน

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 8 ส.ค. กลับมีผู้ชุมนุม ฝ่ายตรงข้ามที่ต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ ต่อต้านเผด็จการฟาสซิสต์ สนับสนุนชาวมุสลิม ร่วมนับพันคนออกมารวมตัวกันตามจุดนัดพบต่างๆ ที่คาดว่าเป็นจุดหมายในการประท้วงของกลุ่มขับไล่ผู้อพยพที่ประกาศออกมาก่อนหน้านี้ เช่น เมืองบริสตอล เมืองนิวคาสเซิลและกรุงลอนดอน ส่งผลให้สถานการณ์ในหลายเมืองส่วนใหญ่ค่อนข้างเป็นไปอย่างสงบ ไม่มีรายงานการก่อจลาจลเกิดขึ้น ทั้งนี้ ตำรวจยังคงกระจายกำลังเตรียมรับมือหากเกิดเหตุรุนแรงนับพันนายตามแต่ละจุด และมีการควบคุมตัวผู้ประท้วงจำนวนหนึ่ง

วันเดียวกัน นางไดอานา จอห์นสัน รมว.มหาดไทยของอังกฤษ ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์สกาย นิวส์ว่า ตำรวจสามารถเตรียมรับมือการประท้วงได้ทันจนทำให้ไม่มีการก่อเหตุจลาจลรุนแรงเกิดขึ้นเมื่อคืนวันที่ 7 ส.ค. เนื่องจากทราบข้อมูลข่าวกรองล่วงหน้า อีกทั้งเป็นเรื่องดีที่เราไม่เห็นความรุนแรงและการก่ออาชญากรรมเกิดขึ้นบนถนนอย่างที่มีเมื่อหลายวันก่อน แต่นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น โดยขณะนี้รัฐบาลมีข้อมูลข่าวกรองที่ชี้ว่าอาจเกิดการประท้วงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า และต้องคอยเฝ้าระวังต่อไป แต่ไม่ขอเผยรายละเอียดเพิ่มเติม

ขณะที่สำนักข่าวเดอะการ์เดียนรายงานว่า เซอร์เคียร์ สตาร์เมอร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ จัดประชุมฉุกเฉินคณะรัฐมนตรีร่วมกับตำรวจอีกครั้ง หารือถึงกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อคืนก่อน รวมทั้งวางแผน รับมือสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้เซอร์เคียร์ระบุว่า สาเหตุที่จัดประชุมฉุกเฉินอีกครั้ง เนื่องจากมองว่าเป็นเรื่องสำคัญและไม่ควรปล่อยเอาไว้ เมื่อถูกสื่อมวลชนถามว่าบทเรียนที่ผู้ประท้วงจะได้รับคืออะไร เซอร์เคียร์ตอบว่า การตัดสินลงโทษผู้ร่วมก่อจลาจลถือเป็นบทเรียนครั้งสำคัญ ที่ผู้ประท้วงจะได้รับ ไม่ว่าจะมีแรงจูงใจในการก่อเหตุแบบใดก็ตาม แต่ผู้ ที่มีส่วนร่วมในการก่อความไม่สงบในครั้งนี้จะต้องได้รับการลงโทษสถานหนัก.

...

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่