ปูตินเป็นคนฉลาด เมื่อทราบว่าคนรัสเซียยุคปัจจุบันจำนวนไม่น้อยยังระลึกนึกถึงความยิ่งใหญ่ของรัสเซียในยุคจักรวรรดิเมื่อมีนาคม ค.ศ.2000 ในวัย 47 ปี ปูตินมีคะแนนเหนือผู้สมัครประธานาธิบดีคนอื่นทั้ง 2 รอบ และเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 2 ของสหพันธรัฐรัสเซียอย่างเป็นทางการเมื่อ 7 พฤษภาคม 2000

ปูตินให้คริสตจักรรัสเซียออร์ทอดอกซ์สถาปนาซาร์นิโคลัสที่ 2, ซารีนาอะเล็กซานดรา เฟโอโดรอฟนา, ซาเรวิชอะเล็กเซย์ นีโคลาเยวิช และพระราชธิดาทั้ง 4 พระองค์ เป็นนักบุญในเดือนสิงหาคม ค.ศ.2000 การสถาปนาดังกล่าวเป็นการฟื้นฟูพระเกียรติอันสูงสุดของราชวงศ์โรมานอฟและมีส่วนทำให้การชื่นชมซาร์กลับมาเป็นกระแสสำคัญในการเมืองและสังคมรัสเซียอีกครั้งหนึ่ง (หลังจากที่ไม่มีซาร์มานานถึง 83 ปี)

พฤหัสบดีเมื่อวานผมพูดถึงการปฏิวัติ ค.ศ.1905 และจบลงด้วยคำแถลงการณ์ของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ที่ปล่อยออกมาเมื่อตุลาคม 1905 ว่าพระองค์จะยอมให้มีการตั้งสภาแห่งชาติที่เรียกว่าสภาดูมา ยอมให้มีการร่างรัฐธรรมนูญ (ซึ่งต่อมาทำให้เกิดรัฐธรรมนูญรัสเซียฉบับ ค.ศ.1906) ยอมให้มีการขยายสิทธิการออกเสียงเลือกตั้งไปยังทุกชนชั้น และกำหนดว่ากฎหมายทุกฉบับต้องได้รับการรับรองจากสภาดูมาก่อน

การประกาศของซาร์ทำให้กลุ่มสายกลางพอใจ แต่พวกสังคมนิยมไม่ยอมรับ จึงประท้วงกันต่อไป ทว่าในช่วงปลาย ค.ศ.1905 กลุ่มปฏิรูปทั้งหลายแตกแยกกันเอง ทำให้ถูกปราบลงและอำนาจของพระเจ้าซาร์ก็กลับมามั่นคง

กระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 รัสเซียจำเป็นต้องรักษาเซอร์เบียเพราะทั้งรัสเซียและเซอร์เบียต่างเป็นสลาฟเหมือนกัน (รัสเซียเป็นสลาฟตะวันออก เซิร์บเป็นสลาฟใต้) พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ตรัสกับนิโคลา ปาชิช นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรเซอร์เบียเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 1914 หกเดือนก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ว่า “ฝากทักทายพระราชาแทนเรา และบอกพระองค์ด้วยว่า เพื่อเซอร์เบีย เราจะทำทุกอย่าง”

...

คนรัสเซียตอบรับการเข้าสงครามโลกครั้งที่ 1 (เพื่อช่วยเซอร์เบีย) ด้วยกระแสความรักชาติ ทั้งแผ่นดินรัสเซียเกิดปรากฏการณ์จิตวิญญาณ 1914 แม้แต่ชื่อเมืองหลวงอย่างกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กที่ฟังเป็นคำเยอรมัน ก็ถูกเปลี่ยนเป็นเปโตรกราดที่มีความเป็นรัสเซียมากกว่า

เพราะข้อความทางวิทยุโทรเลขของรัสเซียไม่ได้มีการเข้ารหัส พวกเยอรมันจึงรู้ความเคลื่อนไหวการเดินทัพของรัสเซีย กองทัพรัสเซียจึงแพ้เยอรมนีราบคาบ ผู้บัญชาการรัสเซียต้องยิงตัวตายเพื่อหนีความอับอายขายหน้า ทหารรัสเซียเสียขวัญในหลายสมรภูมิรบถึงขนาดต้องปลดผู้บัญชาการสูงสุด และพระเจ้าซาร์เข้ามาบัญชาการรบด้วยตนเอง

สงครามโลกครั้งที่ 1 ดีกับรัสเซียเฉพาะในตอนแรก แต่พอรบแพ้บ่อยๆเข้า ประชาชนก็ไม่เอาด้วย คนรัสเซียอยากปฏิวัติเพื่อให้พระเจ้าซาร์พ้นไปจากแผ่นดิน นอกจากนั้น ประชาชนยังไม่พอใจที่พระเจ้าซาร์เอาใจแต่นายทุนขุนศึกซึ่งเป็นชนชั้นเศรษฐีที่ดิน เศรษฐีที่ดินเหล่านี้ปฏิบัติต่อชาวนาอย่างเอาเปรียบโหด

การแต่งตั้งโยกย้ายในกองทัพก็ไม่เป็นไปตามระบบคุณธรรม ทหารเสียขวัญ อัตราการหนีทหารมีสูงโดยเฉลี่ย 3.4 หมื่นคนต่อเดือน พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ต้องการจะเรียกขวัญและกำลังใจและฟื้นฟูชื่อเสียงของสถาบันกษัตริย์กลับมา จึงประกาศว่าพระองค์จะออกไปบัญชาการทัพด้วยพระองค์เอง

ประกาศอย่างนี้เป็นการเชื่อมโยงสถาบันกษัตริย์กับสงคราม (ที่ทหารรัสเซียแพ้แทบทุกสมรภูมิ) เป็นการนำพระองค์เองเข้าไปมีส่วนเกี่ยวดองหนองยุ่งและแทรกแซงกิจการทางทหาร ทำให้ทหารต่างระแวงซึ่งกันและกัน

เมื่อพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ไปอยู่ที่แนวหน้าเพื่อรบกับพวกเยอรมัน ทำให้หน้าที่และอำนาจตกอยู่กับซารีนาอะเล็กซานดรา พระชายา ซึ่งเป็นชาวเยอรมัน

เรื่องพวกนี้ทำให้สถาบันกษัตริย์รัสเซียตกต่ำเป็นอย่างมาก และเป็นสาเหตุทำให้รัสเซียไม่มีสถาบันกษัตริย์อีกต่อไป

เรื่องราวจะเป็นอย่างไรขออนุญาตมาเล่ารับใช้กันต่อในโอกาสหน้าครับ.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com 

คลิกอ่านคอลัมน์ “เปิดฟ้าส่องโลก” เพิ่มเติม