หลังได้สัมผัสกับ เทควันโดวอน ศูนย์ฝึกเทควันโดที่เมืองมูจู จังหวัดชอลลาเหนือ และประจักษ์ว่าเกาหลีใต้ยกระดับศิลปะป้องกันตัวของตนเองไปได้ไกล ทั้งยังใช้กีฬาเชื่อมโลกเข้าหากัน ผ่าน เวิลด์ เทควันโด (World Taekwondo) หรือ สหพันธ์เทควันโดโลก ปัจจุบันมีสมาชิก 213 ชาติบวกอีก 1 แห่งคือ “ค่ายผู้ลี้ภัย”
ไม่แปลกที่ โจ จองวอน ประธานสหพันธ์เทควันโดโลก จะกล่าวต้อนรับสื่อต่างชาติที่เดินทางมาเกาหลีใต้ตามคำเชิญของกระทรวงวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยวเกาหลีใต้ ที่มีทั้งไทย ตุรกี เอกวาดอร์ และเม็กซิโก ว่าพวกเราคือครอบครัว และยังไขความกระจ่างถึง เวิลด์ เทควันโด ให้ฟัง
เวิลด์ เทควันโด ตั้งขึ้นในปี 2516 มีจุดประสงค์คือเพื่อควบคุมและกำกับดูแลกีฬาเทควันโดทั่วโลกภายใต้คติพจน์ Taekwondo For All หมายถึง เทควันโดเพื่อทุกคน ซึ่งได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ส่วนที่มี “ค่ายผู้ลี้ภัย” บวกเพิ่มเข้ามาด้วย นั่นเพราะอยากให้เด็กๆในค่ายมีกิจกรรมทำหลังจากเลิกเรียน ดังนั้น เวิลด์ เทควันโดจึงร่วมจัดตั้งองค์กร Taekwondo Humanitarian Foundation ที่นครโลซาน สวิตเซอร์แลนด์ ภายใต้ภารกิจ Empowering the Powerless ในค่ายผู้ลี้ภัยหลายแห่งทั่วโลก เช่น จอร์แดน รวันดา ฝรั่งเศสและเอสวาตินี จะถือว่าเวิลด์ เทควันโดเป็นผู้ร่วมบุกเบิกสนับสนุนการเล่นกีฬาในค่ายผู้ลี้ภัยก็ว่าได้
ในปี 2567 นี้ยังเป็นวาระครบรอบ 30 ปีที่เทควันโดได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากลให้ถูกบรรจุเป็นกีฬาโอลิมปิกในวันที่ 4 ก.ย.2537 และได้โชว์ให้โลกเห็นเสน่ห์ของกีฬาชนิดนี้ที่โอลิมปิกฤดูร้อน นครซิดนีย์ ออสเตรเลีย ยังถือเป็นกีฬาประจำชาติลำดับที่ 2 ต่อจากศิลปะการป้องกันตัว “ยูโด” ของญี่ปุ่น ที่ถูกนำมาแข่งขันในกีฬาโอลิมปิก ทำให้ทุกวันที่ 4 ก.ย.กลายเป็น “วันเทควันโด”
...
ส่วนโอลิมปิก ปารีส ฝรั่งเศส นักกีฬาเกาหลีใต้คว้าตั๋วไปแข่งเทควันโด 4 คน พาราลิมปิกได้ไป 2 คน โดยคุณโจเผยว่าจำนวนตั๋วไม่ได้สำคัญไปกว่า การได้เห็นว่าใครคว้าชัยไป พร้อมหันมากล่าวกับสื่อจากไทยว่า สหพันธ์ฯได้เลือกไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเทควันโด เวิลด์ กรังปรีซ์ ชาเลนจ์ 2 ในเดือน ต.ค.2567 ซึ่งมองว่านี่จะเป็นโอกาสอันดีที่ไทยจะได้พัฒนาศักยภาพเทควันโดให้ดีและแข็งแกร่งยิ่งขึ้น.
ญาทิตา เอราวรรณ
คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม