• สถานการณ์ในหลายเมืองของอังกฤษในเวลานี้เต็มไปด้วยความโกลาหลจากการถูกสุมเชื้อไฟแห่งความเกลียดชัง และข้อมูลที่บิดเบือนให้แก่ประชาชน จนเกิดการรวมตัวประท้วงของกลุ่มขวาจัดและมีการปะทะกับตำรวจอย่างต่อเนื่อง
  • มูลเหตุของความวุ่นวายในครั้งนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากเหตุการณ์คนร้ายวัย 17 ปี ไล่แทงเด็กหญิงอายุไม่เกิน 10 ขวบที่กำลังเรียนคลาสเต้นรำเมื่อสัปดาห์ก่อน จนเป็นเหตุให้เด็กหญิง 3 คนเสียชีวิตสลด และมีเด็กและผู้ใหญ่บาดเจ็บอีกหลายคน โดยมีการปล่อยข่าวลือว่าคนร้ายเป็นผู้อพยพชาวมุสลิม จนเกิดเป็นกระแสความเกลียดชัง
  • ล่าสุดมีรายงานว่า ตำรวจสามารถจับกุมผู้ก่อเหตุความวุ่นวายได้เกือบ 400 คน นับตั้งแต่เริ่มมีการก่อจลาจล ขณะที่สถานการณ์การประท้วงและก่อเหตุความรุนแรงยังคงลุกลามไปในหลายเมือง จนกลายเป็นการก่อเหตุจลาจลที่รุนแรงที่สุดในรอบ 13 ปี ของอังกฤษ

จุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การก่อจลาจล

ประเทศอังกฤษกำลังเผชิญกับเหตุโกลาหลครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 13 ปี ที่ถูกจุดชนวนและเติมเชื้อไฟด้วยกระแสความเกลียดชังผู้อพยพ และชาวมุสลิมโดยกลุ่มขวาจัด หลังจากเกิดเหตุการณ์คนร้ายวัย 17 ปี ไล่แทงเด็กหญิงอายุไม่เกิน 10 ขวบที่กำลังเรียนคลาสเต้นรำธีม เทย์เลอร์ สวิฟต์ เมื่อสัปดาห์ก่อน จนเป็นเหตุให้เด็กหญิง 3 คนเสียชีวิตสลด และมีเด็กและผู้ใหญ่บาดเจ็บอีกหลายคน ซึ่งแม้จะมีการเปิดเผยแล้วว่า ผู้ก่อเหตุคือนาย เอ็กเซล รูดาคูบานา วัย 17 ปี ซึ่งเกิดในคาร์ดิฟฟ์ เมืองหลวงของเวลส์ แต่กลับมีการปล่อยข่าวลือทางโลกโซเชียลว่า คนร้ายเป็นผู้อพยพชาวมุสลิม จนเกิดการชุมนุมรวมตัวประท้วง และใช้ความรุนแรง มีรายงานผู้ประท้วงกว่า 700 คน ล้อมโรงแรม “ฮอลิเดย์ อินน์ เอ็กซ์เพรส” ที่เมือง รอตเธอร์แฮม ที่เคยเป็นที่พักอาศัยของผู้อพยพ ก่อนทุบทำลายหน้าต่าง จุดไฟเผา และบุกเข้าไปภายใน โดยมีตำรวจได้รับบาดเจ็บระหว่างปะทะกับผู้ชุมนุม 10 นาย และยังมีการไปเผาโรงแรม "ฮอลิเดย์ อินน์" ในเมืองแทมเวิร์ธ ทางตอนเหนือของอังกฤษในวันเดียวกันอีกด้วย

...

เหตุการณ์ความรุนแรงที่ลุกลามใหญ่โตครั้งนี้ทำให้รัฐบาลอังกฤษต้องจัดการประชุมฉุกเฉินเพื่อเร่งควบคุมสถานการณ์ โดยนายเคียร์ สตาร์เมอร์ นายกรัฐมนตรีของอังกฤษออกมาประกาศว่า กลุ่มผู้ประท้วงจะต้องเสียใจต่อสิ่งที่พวกเขาก่อไว้ในวันนี้ รวมทั้งพวกที่ปลุกระดม จุดกระแสทางออนไลน์ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายที่กระทำโดยคนส่วนน้อยของอังกฤษ และพวกเขาจะต้องได้รับโทษอย่างเหมาะสม โดยเหตุการณ์ประท้วงรุนแรงครั้งล่าสุดที่เคยเกิดขึ้นในอังกฤษ เกิดขึ้นเมื่อปี 2554 หลังตำรวจฆาตกรรมชายผิวดำในภาคเหนือของกรุงลอนดอน จนเกิดการจลาจลไปทั่วประเทศ

ด้านนักวิเคราะห์ระบุว่า นอกจากเหตุจลาจลครั้งนี้จะสะท้อนให้เห็นถึงกระแสความเกลียดชังที่ชาวอังกฤษมีต่อผู้อพยพแล้ว ยังเป็นการส่งสัญญาณให้เห็นว่าชาวอังกฤษมีความกลัวชาวต่างชาติ หรือชนกลุ่มน้อยต่างๆ ที่อยู่ในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวมุสลิม

โรซา ฟรีแมน ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเรดดิ้ง ให้ความเห็นต่อสำนักข่าวอัลจาซีราว่า เหตุจลาจลเป็นผลมาจากรัฐบาลอนุรักษนิยมชุดก่อน ที่เห็นดีเห็นงามไปกับการเหยียดเชื้อชาติของกลุ่มขวาจัด ดังนั้นแทนที่พวกเขาจะแสดงจุดยืนต่อต้านแบบลับๆ คราวนี้พวกเขาก็เลยออกมาแสดงจุดยืนแบบเปิดเผย ซึ่งก็ไม่ใช่ความผิดของพรรคแรงงานที่เพิ่งเข้ามาบริหารประเทศได้แค่ 4 สัปดาห์

เกิดเหตุจลาจลที่ไหนบ้าง

ล่าสุดเหตุความวุ่นวายลุกลามไปแล้วหลายเมือง ทั้งเซาท์พอร์ต รอตเธอร์แฮม และแทมเวิร์ธ นอกจากนี้ยังมีรายงานเหตุปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและตำรวจในเมืองแมนเชสเตอร์ ลิเวอร์พูล เบลฟาสต์ ทางตอนเหนือของไอร์แลนด์ และเมืองอื่นๆ อีกหลายเมือง โดยในโลกโซเชียลมีเดียยังมีการโพสต์ข้อความอีกหลายข้อความที่ระบุถึงแผนการที่จะจัดการชุมนุมของกลุ่มขวาจัดอีกหลายจุด แต่ยังไม่สามารถยืนยันที่มาข้อมูลได้อย่างชัดเจน

ท่าทีของรัฐบาล

นายกรัฐมนตรีสตาร์เมอร์ กล่าวว่า เขาขอประณามกลุ่มนักเลงขวาจัดต่อการก่อเหตุความวุ่นวายในครั้งนี้ ขณะที่เยฟตี้ คูเปอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้สัมภาษณ์ต่อสกายนิวส์ว่า มันมีคนจำนวนมากที่คิดว่าพวกเขาจะได้ไปใช้เวลาช่วงวันหยุดฤดูร้อนในสัปดาห์นี้ แต่กลับกลายเป็นว่าพวกเขาต้องมาเจอกับตำรวจที่จะไปเคาะตามประตูบ้านของพวกเขาแทน

ด้านไนเจล ฟาราจ ที่มีแนวคิดต่อต้านผู้อพยพ เคยระบุไว้ว่า ชาวมุสลิมไม่สมควรที่จะได้รับการปฏิบัติเหมือนชาวอังกฤษ โดยเหตุจลาจลตามท้องถนนที่เห็นอยู่ในเวลานี้ไม่ว่าจะที่ลอนดอน หรือเซาท์พอร์ตอาจจะเทียบไม่ได้กับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เพราะการชุมนุมประท้วงเป็นการแสดงถึงปฏิกิริยาของความหวาดกลัว ความไม่สบายใจ ถ่ายทอดไปยังประชาชนอีกหลายสิบล้านคน

...

ขณะที่ ไดอานา จอห์นสัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงตำรวจแห่งสหราชอาณาจักรรับปากว่า จะจัดการกับผู้ที่ใช้ความรุนแรง และกระทำให้บ้านเมืองไม่สงบสุข เพราะก็มีไม่น้อยที่อาศัยจังหวะนี้เป็นข้ออ้างในการก่อเหตุปล้นสะดม ซึ่งไม่เกี่ยวกับจุดยืนในการต่อต้านผู้อพยพ และไม่ใช่ทุกคนจะมีความเห็นต่อผู้อพยพเหมือนกันทั้งหมด

จะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้

ตำรวจ และทางรัฐบาล ออกมาประกาศแล้วว่า ผู้ที่ก่อเหตุความไม่สงบและความรุนแรง จะต้องถูกลงโทษ พร้อมระบุว่าพวกเขากำลังทำงานแข่งกับเวลา เพื่อจะเร่งระบุตัวตนผู้ก่อเหตุ และตามจับตัวมาลงโทษให้ได้ ด้านโฆษกรัฐบาลระบุว่า ทางรัฐบาลยังไม่มีการนำกองกำลังทหารเข้ามาสนับสนุน โดยขณะนี้กำลังเร่งทำงานร่วมกับบริษัทสื่อโซเชียลมีเดีย เพื่อให้ช่วยตรวจสอบและจัดการกับข้อมูลที่บิดเบือน หรือข้อมูลที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง เพื่อไม่ให้เป็นช่องทางในการสร้างความเข้าใจผิด หรือปลุกระดมให้เกิดความวุ่นวายเพิ่มขึ้นอีก โดยนายกรัฐมนตรี เคียร์ สตาร์เมอร์ ยืนยันจะไม่มีการเรียกประชุมรัฐสภาในช่วงพักช่วงฤดูร้อนนี้ แม้เหตุจลาจลจะยังไม่สงบลงก็ตาม ซึ่งก็ต้องรอดูว่า รัฐบาลใหม่ของอังกฤษจะสามารถรับมือกับสถานการณ์ครั้งนี้ได้อย่างไร เพราะนี่นับเป็นงานยากงานแรกที่จะท้าทายฝีมือของผู้นำคนใหม่จากพรรคแรงงานคนนี้.

...

 

ผู้เขียน : อาจุมมาโอปอล

ที่มา : aljazeeraBBC

คลิกอ่านข่าวเกี่ยวกับ รายงานพิเศษ