นักวิทยาศาสตร์อียิปต์ เปิดเผยทฤษฎีใหม่ที่อาจเป็นสาเหตุการตายของ "มัมมี่กรีดร้อง" ซึ่งใบหน้าของเธออยู่ในสภาพ อ้าปากค้างอยู่ตลอดเวลา

นักวิทยาศาสตร์อียิปต์ เปิดเผยสาเหตุการตายของมัมมี่ในตำนาน ซึ่งใบหน้าของเธออยู่ในสภาพ "ส่งเสียงกรีดร้อง" ตลอดเวลา มัมมี่ หญิงชาวอียิปต์โบราณได้ก่อให้เกิดความสงสัยของนักโบราณคดีที่ค้นพบร่างมัมมี่ของเธอในปี 1935 ในหลุมฝังศพใกล้กับเมืองลักซอร์

ทีมนักวิทยาศาสตร์อีกทีมหนึ่งซึ่งยังคงสงสัยต่อปริศนามัมมี่ "ผู้หญิงกรีดร้อง" ที่เสียชีวิตไปเมื่อประมาณ 3,500 ปีก่อน ได้ใช้การซีทีสแกน เพื่อเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับสัณฐานวิทยาของมัมมี่ สุขภาพ และการเก็บรักษา และใช้การถ่ายภาพอินฟราเรดและเทคนิคขั้นสูงอื่นๆ เพื่อ "ผ่าศพ" ในลักษณะเสมือนจริง และทำความเข้าใจถึงสาเหตุที่อาจก่อให้เกิดการแสดงสีหน้าที่โดดเด่นของเธอ

ผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร "ฟรอนเทียร์ อิน เมดิซีน" (Frontiers in Medicine) เมื่อวันที่ 2 ส.ค. ที่ผ่านมา เปิดเผยว่าหญิงคนนี้เสียชีวิตขณะอายุ 48 ปี โดยอ้างอิงจากการวิเคราะห์ข้อต่อกระดูกเชิงกรานที่เปลี่ยนไปตามอายุ โดยกระบวนการบางอย่างที่ใช้ในการทำมัมมี่ของเธอนับว่ามีความโดดเด่นเป็นพิเศษ

ซาฮาร์ ซาเล็ม ศาสตราจารย์ด้านรังสีวิทยาที่โรงพยาบาลคาเซอร์ อัล ไอนี แห่งมหาวิทยาลัยไคโร ผู้เขียนรายงานการศึกษากล่าวในแถลงการณ์ว่า ร่างของเธอถูกนำไปดองด้วยกำยานและเรซินจูนิเปอร์ ซึ่งเป็นสารราคาแพง และน่าจะซื้อจากที่ไกลๆ โดยซาเล็มไม่พบรอยแผลใดๆ บนร่างกาย ซึ่งสอดคล้องกับผลการประเมินที่ทำขึ้นระหว่างการค้นพบครั้งแรกว่ายังคงมีสมอง กะบังลม หัวใจ ปอด ตับ ม้าม ไต และลำไส้อยู่

การศึกษาระบุว่า การไม่นำอวัยวะภายในออกนั้นเป็นเรื่องผิดปกติ เนื่องจากวิธีการมัมมี่แบบคลาสสิกในสมัยนั้นรวมถึงการนำอวัยวะทั้งหมดออก ยกเว้นหัวใจ

...

นักวิจัยพบว่าหญิงนิรนามรายนี้สูง 1.54 เมตร และเป็นโรคข้ออักเสบที่กระดูกสันหลังเล็กน้อย โดยการสแกนเผยให้เห็นกระดูกงอกที่กระดูกสันหลังบางส่วนซึ่งเป็นกระดูกสันหลัง นอกจากนี้ ฟันกรามของผู้หญิงรายนี้ยังหายไปหลายซี่ ซึ่งน่าจะสูญเสียไปก่อนเสียชีวิตด้วย อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ไม่สามารถระบุสาเหตุการเสียชีวิตที่แน่ชัดได้

การศึกษาระบุว่า พบมัมมี่อียิปต์โบราณเพียงไม่กี่ร่างเท่านั้นที่อ้าปาก โดยผู้ทำมัมมี่มักจะใช้กระดูกขากรรไกรและกะโหลกศีรษะปิดปากของผู้เสียชีวิตไว้ จากผลการศึกษายังไม่ชัดเจนว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงคนนี้มีสีหน้าหวาดกลัว

ซาเล็มกล่าวว่ามัมมี่ที่ยังคงสภาพดี ความหายากและค่าใช้จ่ายของวัสดุสำหรับทำมัมมี่ รวมถึงเทคนิคด้านการทำศพอื่นๆ เช่น การใช้วิกที่ทำจากต้นอินทผลัมและแหวนที่สวมบนร่างกาย ที่ดูเหมือนจะตัดความเป็นไปได้ของกระบวนการทำมัมมี่ที่ขาดความระมัดระวัง

ตามการศึกษาวิจัย พบว่า "การแสดงออกทางสีหน้าที่กรีดร้อง" ของมัมมี่อาจตีความได้ว่าเป็นการกระตุกของศพ ซึ่งเป็นอาการเกร็งของกล้ามเนื้อที่พบได้น้อยซึ่งมักเกิดขึ้นกับการเสียชีวิตอย่างรุนแรง ซึ่งหมายความว่าผู้หญิงคนนี้เสียชีวิตด้วยการกรีดร้องด้วยความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมาน 

ผู้เขียนการศึกษาวิจัยแนะนำว่าเป็นไปได้ที่เธอจะถูกทำมัมมี่ภายใน 18 ถึง 36 ชั่วโมงหลังจากเสียชีวิต ก่อนที่ร่างกายของเธอจะผ่อนคลายหรือสลายตัว ทำให้ยังคงตำแหน่งปากที่เปิดอยู่ของเธอไว้ในขณะที่เธอเสียชีวิต

อย่างไรก็ตาม การศึกษาวิจัยระบุว่า การแสดงออกทางสีหน้าของมัมมี่ไม่ได้บ่งบอกว่าบุคคลนั้นรู้สึกอย่างไรในขณะที่เธอเสียชีวิตเสมอไป ปัจจัยอื่นๆ อีกหลายประการ เช่น กระบวนการย่อยสลาย อัตราการแห้ง หรือการแห้ง และแรงกดของห่อหุ้ม อาจส่งผลต่อการแสดงสีหน้าของมัมมี่ได้

ทั้งนี้ มัมมี่ "ผู้หญิงกรีดร้อง" ถูกฝังไว้ใต้หลุมศพของเซนมุต สถาปนิกผู้สร้างวิหารของราชินีฮัตเชปซุตแห่งอียิปต์ ซึ่งดำรงตำแหน่งสำคัญในรัชสมัยขององค์ราชินี เชื่อกันว่าผู้หญิงคนนี้มีความเกี่ยวข้องกับเซนมุต 

การค้นพบร่างของเธอเกิดขึ้นระหว่างการเดินทางสำรวจที่นำโดยพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทนในนครนิวยอร์ก ซึ่งโลงศพของเธอถูกจัดแสดงอยู่ที่นั่นในปัจจุบัน ส่วนร่างมัมมี่ของเธอถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์อียิปต์กรุงไคโร.

ที่มา CNN

ติดตามข่าวต่างประเทศเพิ่มเติมที่ https://www.thairath.co.th/news/foreign