ขณะที่ทัพนักกีฬาหลายประเทศทั่วโลกชิงชัยกันอยู่ในมหกรรมการแข่งขัน กีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2024 (พ.ศ.2567) กรุงปารีส ฝรั่งเศส อย่างคึกคัก ลู่แข่งนอกสนามที่เริ่มการขับเคี่ยวขึ้นแล้วก็คือการชิงสิทธิ์การเป็น “เจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2036” ซึ่งนครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา คว้าสิทธิ์จัดในปี 2028 (พ.ศ.2571) คิวถัดไปก็คือนครบริสเบน ออสเตรเลีย ในปี 2032 (พ.ศ.2575)

ตำแหน่ง เจ้าภาพโอลิมปิกปี 2036 (พ.ศ.2579) ที่ยัง “ว่างอยู่” ก็มีหลายประเทศจ้องจะคว้าตำแหน่งเป็นเจ้าภาพมาครอง ทั้งอียิปต์ กาตาร์ ตุรกี อินเดีย รวมถึง “เกาหลีใต้” ซึ่งตามแบบปฏิบัติก็คือชาติที่สนใจต้องเสนอแผนงานและงบประมาณให้คณะกรรมการโอลิมปิกสากลพิจารณา ตามข้อมูลจากเว็บไซต์คณะกรรมการโอลิมปิกสากล คาดว่าการเลือกเจ้าภาพ “โอลิมปิกปี 2036” จะมีขึ้นหลังผ่านพ้นปี พ.ศ.2568

ความปรารถนาของเกาหลีใต้นี้ ยังทำให้ทีมข่าวต่างประเทศ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ มีโอกาสร่วมทริปสื่อนานาชาติตามคำเชิญของ กระทรวงวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยวเกาหลีใต้ เมื่อปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งการชวนสื่อต่างชาติมาเยือนเกาหลีใต้ในครั้งนี้ก็เพื่อโชว์ศักยภาพที่จะใช้ในการจัดการแข่งขัน “โอลิมปิก 2036” ทั้งเน้นย้ำให้เห็นว่าชาวโสมขาวพร้อมจะยืนอยู่ แถวหน้าของทุกสนามการชิงชัยระดับโลก

ย้อนกลับไปในอดีต เกาหลีใต้เคยเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อนปี 1988 (พ.ศ.2531) ที่กรุงโซล มีคติพจน์ว่า “Harmony and Progress” หมายถึง “ความสามัคคีและการก้าวไปข้างหน้า” ในห้วงเวลานั้นคือปลายยุค สงครามเย็นระหว่าง 2 ขั้วมหาอำนาจ ฝั่งหนึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกา อีกฝั่งนำโดยสหภาพโซเวียต กีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนที่โซลในปีนั้น จึงเปรียบเสมือนประตูสู่สันติภาพเพื่อเสริมสร้างมิตรภาพ ลดความตึงเครียดของสงครามเย็น

...

หากจะมองว่าเป็นความได้เปรียบก็คงไม่ผิดนัก เพราะประสบการณ์ที่มีรวมถึงทรัพยากรทางโครงสร้างที่มีอยู่ เพียงแค่บำรุงก็สามารถนำมาใช้งานได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกนั้น เกาหลีใต้ก็มองว่าอีเวนต์นี้คุ้มค่าเพราะช่วยพลิกโฉมภาพลักษณ์ของประเทศ เห็นได้ชัดจากตัวเลขเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศกับชาติตะวันออกและยุโรปกลางในปี 2531 เช่น ฮังการี ยูโกสลาเวีย บัลแกเรีย และโปแลนด์ เพิ่มขึ้นมากถึง 80% คิดเป็น 3,650 ล้านดอลลาร์ หรือราว 131,400 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า และโอลิมปิกในครั้งนั้นยังทำให้ได้เปิดการค้ากับจีนและสหภาพ โซเวียต การเติบโตทางเศรษฐกิจนี้ เป็นแรงขับเคลื่อนให้เกาหลีใต้ผงาดขึ้นมาและได้สมญานาม “เสือตัวใหม่แห่งเอเชีย” โดยผลสืบเนื่องที่เห็นชัดเจนก็คือ เมืองหลวงอย่างโซลได้รับการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค การคมนาคม มีการเติบโตของที่พักอาศัย เพิ่มเส้นทางรถไฟฟ้า เพิ่มพื้นที่สีเขียว ฯลฯ

ศาสตราจารย์อี วอนแจ จากภาควิชาอุตสาหกรรม การกีฬาและนันทนจิต แห่งมหาวิทยาลัยกุกมิน และคณะกรรมการกีฬาและโอลิมปิกแห่งเกาหลีใต้ ฝ่ายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มาย้อนอดีตให้ฟังว่า เมื่อเกาหลีใต้รู้ว่าได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 เท่ากับว่ามีเวลา 7 ปีในการเตรียมงาน ซึ่งในระหว่างนั้นประเทศอยู่ในช่วงที่มีความขัดแย้งและสงครามเย็น แต่รัฐบาลก็เชื่อว่าการลงทุนเพื่อให้ได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกจะส่งผลให้เกาหลีใต้กลายเป็นที่รู้จักบนเวทีโลก และประสบการณ์จัด “โอลิมปิก 1988” ก็ทำให้เกาหลีใต้ตั้งหน่วยงาน “โคเรีย สปอร์ตส โปรโมชัน เฟาเดชัน” (Korea Sports Promotion Foundation หรือ KSPO) ขึ้นมาในปี พ.ศ.2532 เพื่อสืบสาน “มรดกโอลิมปิก” (Olympic Legacy) และตอนนี้กำลังจะใช้มรดกที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์สำหรับเป้าหมายเสนอชื่อเป็นเจ้าภาพ “โอลิมปิก 2036” ด้วยสโลแกน “Harmony, Progress and Peace” ที่ความสามัคคีและการก้าวไปข้างหน้ายังคงเดิม แต่เพิ่มเติมด้วยคำว่า “สันติภาพ”

บทบาทของ KSPO คือรับผิดชอบงบประมาณและเงินทุนด้านกีฬาของเกาหลีใต้มากกว่า 90% โดยใช้ในการบำรุงรักษา ปรับปรุงสิ่งปลูกสร้าง เพิ่มประโยชน์ใช้สอยต่างๆจากสิ่งที่ตกทอดมาจาก “โอลิมปิก 1988” สนับสนุนการศึกษาและวิจัย อย่างหลักสูตรปริญญาโทด้านการบริหารจัดการกีฬา เป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษชื่อ Dream Together Master Program เปิดสอนที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล ซึ่งจะให้ทุนการศึกษาทั้งคนเกาหลีและชาวต่างชาติที่มีความสนใจ ภายใต้การสนับสนุนของ KSPO และกระทรวงวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว นอกจากนี้แหล่งเงินทุนก็ได้มาจากการจัดสรรของกระทรวงวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยวของเกาหลีใต้ ขณะที่แหล่งรายได้หลักๆ ก็คือการขายตั๋วเข้าชมการแข่งกีฬาจักรยานและพายเรือ การขายสลากกีฬา (Sports Toto) ให้ทายผลแข่งขันกีฬา เช่น วอลเลย์บอล เบสบอล และฟุตบอล โดยมีการควบคุมอย่างเข้มงวดจากรัฐบาล มีการตรวจสอบและเผยแพร่ข้อมูลที่มาของงบประมาณอย่างโปร่งใส ซึ่งนับแต่ปี พ.ศ.2537 จนถึง พ.ศ.2565 องค์กร KSPO ระดมทุนไปได้มากถึง 25,000 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 900,000 ล้านบาท ปัจจุบัน มีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านกีฬากระจายอยู่ทั่วประเทศมากกว่า 15,000 แห่ง เช่น สนามกีฬาที่มีอัฒจันทร์ สนามฟุตบอล ฯลฯ

...

ในคราวนี้ ทางทีมข่าวยังมีโอกาสได้เยือนสถานที่ซึ่งเคยถูกใช้งานในโอลิมปิกครั้งก่อนอย่าง “โอลิมปิก พาร์ค” (Olympic Park) ตั้งอยู่ในเขตซงพา กรุงโซล ที่ได้รับการทำนุบำรุงเพื่อให้สามารถใช้งานได้ในอนาคต พื้นที่ 1.4 ตารางกิโลเมตรของสถานที่แห่งนี้ ประกอบไปด้วยสนามกีฬาในร่มและสนามกีฬากลาง ได้แก่ ว่ายน้ำ ยิมนาสติก ยกน้ำหนัก ฟันดาบ สนามจักรยานในร่ม (Velodrome) และโอลิมปิกเซ็นเตอร์ ยังมีการจัดสรรพื้นที่ติดตั้งสถาปัตยกรรม “เวิลด์ พีซ เกท” (World Peace Gate) หรือประตูสันติภาพ ออกแบบโดยนายคิม จงออบ สถาปนิกชื่อดังผู้ล่วงลับ มีศูนย์ National Fitness Award Center ที่ให้บริการแก่ประชาชนทุกเพศ ทุกวัย เข้าทดสอบสมรรถภาพร่างกายได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยมีการจัดโปรแกรมออกกำลังกายเพื่อให้เข้ากับเงื่อนไขด้านสุขภาพทั้งมาที่ศูนย์เอง หรือจะผ่านทางออนไลน์ ซึ่ง KSPO ยังได้จัดตั้งศูนย์ดังกล่าวไปทั่วประเทศ รวมทั้งมี “โซล โอลิมปิก มิวเซียม” (Seoul Olympic Museum) หรือ พิพิธภัณฑ์โอลิมปิกกรุงโซล ที่กำลังปิดปรับปรุงอยู่ คาดว่าจะเปิดให้เข้าชมได้ในปีพ.ศ.2569

ทั้งนี้ ยังมีสถานที่ที่น่าสนใจมากมายอยู่ภายใน แต่ด้วยเวลาที่จำกัดจึงมีโอกาสได้เดินสำรวจเพียงบางส่วน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทีมข่าวได้ยลยินถึงความมุ่งมั่นของเกาหลีใต้ ก็ยิ่งตอกย้ำว่ากีฬาโอลิมปิกคือแรงหนุนที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย และคำว่า “โอลิมปิก” ยังคงมนตร์ขลังและทรงพลัง.

ทีมข่าวต่างประเทศ

คลิกอ่านคอลัมน์ “7 วันรอบโลก” เพิ่มเติม

...