เป็นความเคลื่อนไหวที่สร้างความบีบคั้นหัวใจให้กับบรรดาคนรัก “สุนัข” ทั่วโลก เมื่อสมาชิกสภานิติบัญญัติของตุรกีได้อนุมัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่มุ่งกำจัด “สุนัขจรจัด” ให้พ้นจากท้องถนนในประเทศ

ก่อนหน้านี้รัฐบาลตุรกีประเมินว่ามีสุนัขจรจัดมากถึงประมาณ 4 ล้านตัว เตร็ดเตร่เร่ร่อนตามถนนและพื้นที่ชนบทของตุรกี ขณะที่ทั่วประเทศมีสถานสงเคราะห์สัตว์ 322 แห่ง สามารถรองรับสุนัขได้ 105,000 ตัว อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสุนัขไร้เจ้าของส่วนใหญ่จะไม่เป็นอันตรายต่อชุมชน แต่ก็ใช่ว่าจะไม่เคยมีเหตุการณ์ทำร้ายผู้คน โดยข้อมูลของรัฐบาลยังยืนยันว่าตั้งแต่ปี 2565 ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตจากการถูกสุนัขทำร้ายรวมทั้งอุบัติเหตุทางจราจรจากสุนัขอย่างน้อย 75 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 44 คน

ประเด็นสำคัญของกฎหมายฉบับดังกล่าว กำหนดให้เทศบาลท้องถิ่นต้องดำเนินการจับสุนัขจรจัดนำไปดูแลในสถานสงเคราะห์เพื่อรับการทำหมัน และฉีดวัคซีน เตรียมความพร้อมสำหรับให้ประชาชนรับไปเลี้ยงต่อไป โดยยอมยกเลิกข้อเสนอก่อนหน้านี้ในการุณยฆาตสุนัขจรเหล่านี้หากไม่ถูกรับเลี้ยงหลังจากผ่านไป เป็นเวลา 30 วัน ขณะที่ ไฟเขียวอนุมัติให้การุณยฆาตสุนัขที่แสดงพฤติกรรมก้าวร้าว มีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของประชาชน หรือมีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคที่ไม่สามารถรักษาได้

ด้านกลุ่มต่อต้านและกลุ่มสิทธิสัตว์มองว่ากฎหมายดังกล่าวเป็น “กฎหมายสังหารหมู่” เนื่องจากการจับสุนัขจำนวนมากเข้าไปอยู่ในสถานสงเคราะห์สัตว์ที่ไม่สามารถรองรับได้เพียงพอ จะยิ่งทำให้เกิดความแออัดยัดเยียด ส่งผลให้สุนัขจำนวนนับไม่ถ้วนต้องทนทุกข์ทรมานและถูกปลิดชีวิต ไม่สามารถแก้ปัญหาในระยะยาวได้ พร้อมให้ความเห็นว่าการรณรงค์ทำหมันน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า ขณะที่พรรค AKP พรรครัฐบาลตุรกี ของนายเรเจป ทายยิป แอร์โดอัน ประธานาธิบดีตุรกี ยืนยันว่ามันสายเกินไป ยืนยันว่าแนวทางนี้คือทางออกเดียวในการจัดการ “ปัญหาสุนัขจรจัด” ของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

...

ตอนนี้ก็เหลือแค่ขั้นตอนการลงนามโดยประธานาธิบดีแอร์โดอัน เพื่อมีสถานะเป็นกฎหมายอย่างเต็มรูปแบบ ส่วนจะมีผลบังคับใช้เมื่อใด และจะดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมได้หรือไม่ ยังต้องคอยติดตาม.

อมรดา พงศ์อุทัย

คลิกอ่านคอลัมน์ "หน้าต่างโลก" เพิ่มเติม