การตัดแขนขาตัวเอง อาจดูเป็นการลงมือกระทำที่รุนแรง แต่เป็นวิธีการเอาตัวรอดที่พิสูจน์แล้วว่ามีประโยชน์ต่อสิ่งมีชีวิตหลายชนิด เช่น กิ้งก่า หากถูกจับหาง มันจะสลัดหางโดยอัตโนมัติและวิ่งหนีไปยังที่ปลอดภัย หรือปูจะลอกส่วนที่ได้รับบาดเจ็บออก เพราะทำให้เคลื่อนที่ช้าลง สิ่งนี้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับทีมนักพัฒนาหุ่นยนต์ของมหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา เพราะหุ่นยนต์อาจเผชิญกับอันตราย เช่น กิ่งไม้ทับหรือติดอยู่ใต้ก้อนหินระหว่างการค้นหาและกู้ภัย ฯลฯ

ทีมเผยว่า ได้คิดค้นเทคโนโลยีที่ช่วยให้หุ่นยนต์ตัดแขนขาของตัวเองออกได้ตามความต้องการ เพื่อปลดปล่อยตัวเองจากกับดัก ทีมได้สร้างเทอร์โมพลาสติกอิลาสโตเมอร์ ที่มีความยืดหยุ่นและสมบัติเชิงกลคล้ายยางที่เรียกว่า Bicontinuous thermoplastic elastomer โดยจะเป็นของแข็งคล้ายยางที่อุณหภูมิห้อง และจะละลายเป็นของเหลวที่อุณหภูมิ 140 องศาเซลเซียส โดยบรรจุอยู่ในวัสดุคล้ายโฟมทำจากซิลิโคน ซึ่งยึดเทอร์โมพลาสติกให้อยู่กับที่เมื่อละลายเป็นของเหลว หลักการทำงานก็คือตัวซิลิโคน 2 ตัวจะมีเทอร์โมพลาสติกดังกล่าวอยู่บนพื้นผิวที่เปิดออก โฟมจะถูกทำให้ร้อนเพื่อให้เทอร์โมพลาสติกละลายเป็นของเหลว กลุ่มซิลิโคนจะยึดวัสดุที่หลอมละลายไว้เหมือนฟองน้ำ ป้องกันไม่ให้ไหลออก เมื่อชิ้นส่วนทั้ง 2 สัมผัสกัน วัสดุที่หลอมละลายจะรวมกันเป็นมวลของเหลวต่อเนื่อง จากนั้นวัสดุจะเย็นลงและแข็งตัวเพื่อเชื่อมชิ้นส่วนทั้ง 2 เข้าด้วยกัน หากจะแยกออกจากกัน ข้อต่อจะถูกทำให้ร้อนเพื่อให้วัสดุละลายและอ่อนตัวลง ทำให้ชิ้นส่วนทั้ง 2 แยกออกจากกันได้ง่ายดาย

ดังนั้น หากหุ่นยนต์ทำกิจกรรมอย่างเดินไปมาในป่า แล้วมีบางอย่างเกิดขึ้นกับขาข้างหนึ่งของมัน เช่น มีหินก้อนใหญ่ตกลงมาทับขา ด้วยใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นใหม่ การหลอมละลายและทำให้ข้อต่อที่มีวัสดุอ่อนตัวลงได้ ก็จะทำให้หุ่นยนต์หลุดจากก้อนหินและเดินต่อไปได้.

...

Credit : Yale University

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่