ปูตินเตือนเกิดวิกฤติสงครามเย็น หลังสหรัฐฯ ประกาศเตรียมติดตั้งขีปนาวุธพิสัยไกลในเยอรมนี ชี้หากสหรัฐฯ ทำเช่นนั้น รัสเซียจะใช้มาตรการแบบเดียวกัน จะติดตั้งขีปนาวุธพิสัยไกลที่สามารถโจมตีสหรัฐฯ ยุโรปในเวลาไม่กี่นาที
เมื่อ 29 ก.ค. 2567 สำนักข่าวรอยเตอร์และอัลจาซีรารายงาน ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย เตือนสหรัฐฯ ถึงวิกฤติสงครามเย็น หลังสหรัฐฯ ประกาศเตรียมติดตั้งขีปนาวุธพิสัยไกลที่เยอรมนี ในปี 2569 เพราะจะทำให้รัสเซียเริ่มหวนกลับมาผลิตอาวุธนิวเคลียร์พิสัยไกล และติดตั้งขีปนาวุธในระยะสามารถโจมตีชาติตะวันตกได้
ประธานาธิบดีปูติน กล่าวเตือนสหรัฐฯ ในเรื่องนี้ ขณะกล่าวสุนทรพจน์ต่อเหล่าทหารเรือจากรัสเซีย จีน แอลจีเรีย และอินเดีย ซึ่งมาร่วมในวันกองทัพเรือรัสเซีย ที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก อดีตเมืองหลวงจักรวรรดิรัสเซีย เมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยปูตินยังกล่าวว่า สหรัฐฯ เสี่ยงจุดชนวนให้เกิดวิกฤติขีปนาวุธในรูปแบบสงครามเย็น หากมีการเคลื่อนไหวนำขีปนาวุธพิสัยไกลไปติดตั้งในเยอรมนี
...
‘การบินของขีปนาวุธเหล่านี้มายังเป้าหมายบนดินแดนของเรา ซึ่งในอนาคตอาจติดตั้งอุปกรณ์ติดหัวรบนิวเคลียร์นั้น จะสามารถมาถึงในเวลา 10 นาที ด้วยเหตุนี้ พวกเราจะใช้มาตรการแบบเดียวกัน ด้วยการติดตั้งขีปนาวุธพิสัยไกลที่สามารถบินไปโจมตีถึงสหรัฐฯ ยุโรป และภูมิภาคอื่นๆ ของโลก’ ปูตินกล่าวเตือนสหรัฐฯ
ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2567 ว่า จะเริ่มนำขีปนาวุธพิสัยไกลไปติดตั้งในเยอรมนี นับตั้งแต่ปี 2569 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มกำลังอาวุธของกองทัพสหรัฐฯ ในยุโรป รวมทั้งจรวดโทมาฮอว์ก และอาวุธความเร็วเหนือเสียง
บรรดานักการทูตรัสเซียและสหรัฐฯ กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯ อยู่ในจุดต่ำสุดยิ่งกว่าช่วงวิกฤติขีปนาวุธคิวบาในปี 2505 โดยประธานาธิบดีปูตินกล่าวว่า สหรัฐฯ คือประเทศที่ทำให้เกิดความตึงเครียดจากการจัดส่งระบบยิงขีปนาวุธพิสัยกลาง (ระบบขีปนาวุธไทฟอน) ไปให้เดนมาร์กและฟิลิปปินส์
พร้อมกันนั้น รัสเซียซึ่งทำสงครามในยูเครนตั้งแต่ปี 2565 ยังเปรียบเทียบแผนล่าสุดของสหรัฐฯ ที่จะติดตั้งขีปนาวุธพิสัยไกลในเยอรมนีว่า เหมือนกับกรณีองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ตัดสินใจติดตั้งระบบยิงขีปนาวุธ Pershing II ในยุโรปตะวันตกเมื่อปี 2522
ติดตามข่าวต่างประเทศได้ที่ https://www.thairath.co.th/news/foreign