• ชาวเวเนซุเอลาจะออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันอาทิตย์ที่ 28 ก.ค.นี้ เพื่อตัดสินอนาคตของประเทศ ซึ่งกำลังเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจอย่างหนัก

  • กลุ่มฝ่ายค้านของเวเนซุเอลามองว่า พวกเขามีโอกาสดีที่สุดมากกว่าการเลือกตั้งครั้งใด ในการโค่นประธานาธิบดี นิโคลัส มาดูโร และเปลี่ยนรัฐบาลเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี

  • ขณะที่นายมาดูโรก็แสดงท่าทีไม่ยอมแพ้ง่ายๆ แม้คะแนนนิยมตามหลังอยู่มาก ถึงขั้นขู่ว่า หากพรรคของเขาแพ้ ก็อาจเกิดการนองเลือดขึ้นในประเทศ

ในวันอาทิตย์ที่ 28 ก.ค. 2567 ชาวเวเนซุเอลาจะออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งประธานาธิบดี ครั้งสำคัญที่สุดในรอบทศวรรษ โดยฝ่ายค้านเชื่อว่าตอนนี้พวกเขามีโอกาสอย่างแท้จริง ที่จะยุติการครองอำนาจของนายนิโคลัส มาดูโร ซึ่งอยู่ในตำแหน่งมานาน 11 ปี

ขณะที่นายมาดูโร ผู้ต้องการคว้าตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 3 ก็กำลังเผชิญบททดสอบครั้งใหญ่ เนื่องจากคะแนนนิยมของเขาตกต่ำอย่างหนัก ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่พังทลาย เงินเฟ้อมหาศาล ผู้คนอดอยาก ไม่มีงานทำ

ผลโพลชี้ว่า คะแนนนิยมของมาดูโรตามหลังนายเอ็ดมุนโด กอนซาเลซ อูร์รูเทีย แคนดิเดตจากพรรคฝ่ายค้านอยู่เกือบ 40 จุด แสดงให้เห็นความเหนื่อยหน่ายของประชาชนที่มีต่อการปกครองของเขา

แน่นอนมาดูโรไม่ยอมง่ายๆ เขาใช้อำนาจที่มีอยู่มากมายเล่นงานผู้ที่อาจเป็นคู่แข่งของเขาตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง หลายคนถูกจับกุม ถูกห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซ้ำร้ายเขายังขู่ว่า ความพ่ายแพ้ของพรรคสังคมนิยม ‘PSUV’ ของเขาอาจทำให้เกิดการนองเลือด

แต่ฝ่ายค้านก็หวังจะโค่นล้มมาดูโรให้จงได้ เพราะมีหลายอย่างเหลือเกินเป็นเดิมพัน

...

โอกาสเปลี่ยนรัฐบาลในรอบ 25 ปี

ถึงแม้ว่า นิโคลัส มาดูโร จะปกครองประเทศเพียง 11 ปี แต่รัฐบาลของเขาได้รับการสืบทอดมาจาก ประธานาธิบดี ฮูโก ชาเวซ ผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเมื่อปี 2556 หลังจากปกครองเวเนซุเอลามานานถึง 14 ปี

ในช่วง 25 ปีนั้น พรรค PSUV เข้าครอบงำสถาบันต่างๆ ของประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ พวกเขามี สส.ในสภาถึง 256 คน จากทั้งหมด 277 คน ครองเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาด ซึ่งทำให้รัฐบาลมาดูโรเข้าควบคุมสถาบันสำคัญอีก 2 แห่งที่สมาชิกถูกเลือกโดยรัฐสภา ได้แก่ ศาลสูงสุด และคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติ

นั่นทำให้รัฐบาลมาดูโรควบคุมอำนาจทั้งฝ่ายบริหาร, ฝ่ายนิติบัญญัติ ไปจนถึงฝ่ายตุลาการ

ในอดีต กลุ่มฝ่ายค้านที่แตกความสามัคคีกันล้มเหลวในการโค่นล้มรัฐบาลมาดูโร เมื่อการเลือกตั้งครั้งก่อน (2561) พวกเขาใช้แผนบอยคอตการเลือกตั้งเนื่องจากความไม่เสรีและไม่ยุติธรรม แต่กลับทำให้มาดูโรได้คะแนนเสียงมากกว่า 67% สานต่อการปกครองเป็นสมัยที่ 2 และรัฐสภาตกอยู่ในมือของพรรค PSUV อย่างสิ้นเชิง

แต่คราวนี้ พรรคฝ่ายค้านหลักรวมกันเป็นหนึ่งสนับสนุนแคนดิเดตคนเดียวกัน นั่นคือนายเอ็ดมุนโด กอนซาเลซ อูร์รูเทีย วัย 71 ปี และเลิกใช้การบอยคอต เพราะพวกเขาเชื่อว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้ คือโอกาสดีที่สุดในการโค่นมาดูโรลงจากอำนาจ แม้ระหว่างทางจะถูกกลั่นแกล้งจากรัฐบาลก็ตาม

ผลโพลล่าสุดของบริษัท ORC Consultores ชี้ว่า มาดูโรมีเสียงสนับสนุนจากประชาชนเพียง 12.5% เท่านั้น ในขณะที่นายกอนซาเลซ ได้รับการสนับสนุนถึง 59.6% ขณะที่โพลของสำนักอื่นๆ เช่น Delphos กับมหาวิทยาลัยอันเดรส เบลโล คาทอลิก คะแนนนิยมของมาดูโรเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 25% ส่วนของนายกอนซาเลซยังคงมากกว่า 59%

นายกอนซาเลซประกาศว่า หากเขาชนะเลือกตั้ง เขาจะฟื้นฟูอิสรภาพให้แก่สถาบันต่างๆ ของประเทศ ขณะที่หากมาดูโรชนะอีกสมัย เขาก็จะได้โอกาสกระชับอำนาจมากขึ้น และควบคุมความเคลื่อนไหวของกลุ่มฝ่ายค้านยิ่งขึ้นกว่าเดิม

ประธานาธิบดี ฮูโก ชาเวซ แห่งเวเนซุเอลา กับ นิโคลัส มาดูโร
ประธานาธิบดี ฮูโก ชาเวซ แห่งเวเนซุเอลา กับ นิโคลัส มาดูโร

ทำไมความนิยมของมาดูโรจึงตกต่ำ?

ฮูโก ชาเวซ เป็นผู้นำเวเนซุเอลาที่ได้รับความนิยมสูงมาก แต่ผู้สืบทอดของเขาอย่าง นิโคลัส มาดูโร ไม่ใช่แบบนั้น

ย้อนกลับไปในสมัยของชาเวซ หลังจากได้รับเลือกในปี 2542 เขาก็ปกครองประเทศด้วยนโยบายประชานิยม ตัดความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา หันหน้าเข้าหาจีนและรัสเซีย ซึ่งเป็น 2 ประเทศที่ให้เวเนซุเอลากู้เงินไปหลายพันล้านดอลลาร์

ชาเวซเปลี่ยนเวเนซุเอลาจากประเทศที่พึ่งพารายได้จากการเกษตร ไปเป็นประเทศผู้ค้าน้ำมันให้ต่างชาติ ซึ่งทำรายได้มหาศาล และใช้รายได้นั้นไปกับโครงการด้านสังคมสงเคราะห์และนโยบายประชานิยมของเขา รวมทั้งจ่ายเงินอุดหนุนกำหนดราคาสินค้าแทบทุกอย่างให้มีราคาถูก จนผู้คนที่ต่างยกย่องให้ชาเวซเป็นวีรบุรุษของชาติ

เมื่อชาเวซสิ้นบุญ มาดูโรที่สืบทอดอำนาจต่อมาก็เจริญรอยตามการปกครองของชาเวซ รัฐบาลของเขายังหยุดการเปิดเผยสถิติเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือต่างๆ รวมทั้งอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อ รับสินบนเพื่ออนุมัติโครงการก่อสร้างต่างๆ เพิ่มหนี้สินที่พวกเขาต้องดิ้นรนหาเงินมาจ่ายให้มากขึ้นไปอีก

และแล้วหายนะของเวเนซุเอลาก็มาถึง เมื่อน้ำมันดิบซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักแหล่งเดียวของพวกเขาเผชิญวิกฤติราคาตกต่ำทั่วโลกในปี 2557 และลดต่อเนื่องยาวนานหลายปี รายได้ของเวเนซุเอลาจึงหดหายเช่นเดียวกันงบประมาณประเทศ การอุดหนุนราคาให้ต่ำกว่าปกติก็ทำไม่ได้อีกต่อไป ส่งผลให้ราคาสินค้าต่างๆ พุ่งพรวดขึ้นอย่างรวดเร็ว

มาดูโรพยายามแก้ปัญหาด้วยการพิมพ์ธนบัตรออกมาเพิ่ม และเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำหลายครั้ง ส่งผลให้ค่าเงิน โบลิวาร์ ดิ่งลงอย่างน่าใจหาย หลายบริษัทต้องปลดพนักงานหรือเลิกกิจการ จนตัวเลขคนว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยิ่งเลวร้ายหนัก ณ จุดหนึ่ง เงินเฟ้อของเวเนซุเอลพุ่งขึ้นจาก 438% ในปี 2560 ไปอยู่ที่ 65,374% ในปี 2561

แม้ตอนนี้เงินเฟ้อของเวเนซุเอลาจะลดลงมาอยู่ที่ราว 99% แล้ว แต่วิกฤติเศรษฐกิจอันยุ่งเหยิงในเวเนซุเอลาก็ยังไม่จางหาย ผู้คนจำนวนมากตัดสินใจเดินทางออกจากประเทศ เพื่อไปแสวงหาโอกาสในต่างแดน ดีกว่าเผชิญความยากลำบากในประเทศ

นักวิจารณ์มากมายโทษมาดูโรกับพรรคพวกของเขาว่า คอร์รัปชันและบริหารประเทศผิดพลาดจนทำให้เศรษฐกิจของเวเนซุเอลาเละเทะขนาดนี้ ขณะเดียวกัน การคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ เพื่อลงโทษการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลมาดูโร ก็ยังทำให้เศรษฐกิจของเวเนซุเอลาทรุดหนักลงไปอีก

...

ชาวเวเนซุเอลาแห่ออกจากประเทศ

หนึ่งในตัวชี้วัดความหนักหนาของวิกฤติเศรษฐกิจในเวเนซุเอลา คือจำนวนผู้คนที่ตัดสินใจเดินทางออกจากประเทศ เพื่อไปแสวงหาโอกาสในต่างแดน

ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีชาวเวเนซุเอลาออกจากประเทศไปแล้ว 7.8 ล้านคน เพื่อหนีวิกฤติเศรษฐกิจและการเมือง และผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดก็ชี้ว่า ชาวเวเนซุเอลาราว 10% จากที่เหลืออยู่ ก็จะออกจากประเทศไปด้วย หากมาดูโรชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ ขณะที่โพลบางสำนักถึงขั้นระบุว่า ประชากร 1 ใน 3 จะอพยพออกไป

ชาวเวเนซุเอลาส่วนใหญ่เลือกที่จะอพยพไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคลาตินอเมริกา ขณะที่บางส่วนเลือกสหรัฐฯ เป็นจุดหมาย แต่ตอนนี้ประเด็นเรื่องผู้อพยพกำลังเป็นประเด็นร้อนในสหรัฐฯ ผลลัพธ์ของการเลือกตั้งในเวเนซุเอลาจึงได้รับการจับตามองจากรัฐบาลวอชิงตัน และชาติลาตินอเมริกาอย่างใกล้ชิด เพราะมันอาจส่งผลต่อประเทศของพวกเขาไปด้วย

มาเรีย กอรินา มาชาโด กับ เอ็ดมุนโด กอนซาเลซ
มาเรีย กอรินา มาชาโด กับ เอ็ดมุนโด กอนซาเลซ

...

ฝ่ายค้านโดนรัฐบาลเล่นงานหนัก

ก่อนที่การเลือกตั้งครั้งนี้จะมาถึง รัฐบาลมาดูโรไล่จัดการกลุ่มฝ่ายค้านอย่างหนัก เพื่อลดคู่แข่งในการเลือกตั้ง ตัวนายกอนซาเลซที่เป็นแคนดิเดตของฝ่ายค้าน เดิมทีเขาไม่ใช่ตัวเลือกอันดับที่ 1 หรือ 2 ด้วยซ้ำ

ตัวเลือกแรกของพวกเขาคือ น.ส.มาเรีย กอรินา มาชาโด ผู้ชนะการเลือกตั้งภายในของฝ่ายค้านในปี 2566 อย่างถล่มทลาย ด้วยคะแนนสนับสนุน 93% แต่เธอกลับถูกศาลสูงสุด ซึ่งอยู่ในการควบคุมของรัฐบาล สั่งห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองถึง 15 ปี ด้วยข้อหามีส่วนในความพยายามโค่นรัฐบาลมาดูโร และสนับสนุนให้สหรัฐฯ คว่ำบาตรเวเนซุเอลา

น.ส.มาชาโดพยายามยื่นอุทธรณ์แต่ไม่สำเร็จ เธอจึงเลือก น.ส.กอรินา โยริส เป็นตัวแทนของเธอ แต่โยริสก็ถูกห้ามลงทะเบียนเลือกตั้งอีก สุดท้ายตำแหน่งแคนดิเดตของกลุ่มฝ่ายค้านจึงตกมาถึงมือของนายกอนซาเลซ ซึ่งมาชาโดทุ่มเทสนับสนุนเขาอย่างเต็มที่ และช่วยเดินสายหาเสียงไปทั่วประเทศ

หวั่นมาดูโรไม่ยอมรับความพ่ายแพ้

นับตั้งแต่มาดูโรขึ้นสู่อำนวจ อัตราความน่าเชื่อถือในการเลือกตั้งของเวเนซุเอลาก็ลดต่ำลงเรื่อยๆ โดยเหลือเพียง 26% ในผลสำรวจเมื่อปี 2566 ทั้งที่ในปี 2555 ตัวเลขยังสูงถึง 59%

อีกหนึ่งคำถามสำคัญคือ มาดูโรจะยอมรับความพ่ายแพ้หรือไม่

หลายฝ่ายกังวลมากว่า มาดูโรจะประกาศชัยชนะไปเลยโดยไม่สนผลการเลือกตั้ง หรือใช้วิธีที่รุนแรงกว่านั้นในการรักษาอำนาจของตัวเองเอาไว้ และตัวเขาเองก็บอกกับผู้สนับสนุนในการหาเสียงเมื่อ 17 ก.ค.ว่า อาจเกิดสงครามกลางเมืองและการนองเลือด หากพรรค PSUV ของเขา ไม่ชนะการเลือกตั้ง

แต่ในกรณีที่มาดูโรยอมออกจากตำแหน่ง เขาอาจพยายามขอเจรจาทำข้อตกลงเพื่อลงจากอำนาจอย่างปลอดภัย ไม่ต้องถูกดำเนินคดีในศาลระหว่างประเทศ ข้อหาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

...

ผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไรต้องติดตามการต่อไป ชาวเวเนซุเอลาจะเริ่มออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งในเวลา 06.00 น. วันอาทิตย์ที่ 28 ก.ค.นี้ (17.00. วันเดียวกันตามเวลาไทย) และปิดหีบเลือกตั้งในเวลา 18.00 น. (05.00 น. วันจันทร์ที่ 29 ก.ค. ตามเวลาไทย) และจะรู้ผลการเลือกตั้งเบื้องต้นอย่างเร็วที่สุดในช่วงเช้าวันจันทร์





ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี

ที่มา : aljazeera , bbcnbcnews