ถือเป็นเหตุการณ์ครั้งใหญ่ในรอบ 56 ปี ของแดนพญาอินทรี หลังประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตัดสินใจถอนตัวจากการเป็นตัวแทนพรรคกลางคัน ซึ่งเท่ากับว่า “เก้าอี้ผู้นำ” สหรัฐฯในปีหน้าจะตกเป็นของคนอื่น และ “โจ ไบเดน” จะถูกจารึกในประวัติศาสตร์ว่าเป็นผู้นำแค่เพียงสมัยเดียว

โดยกรณีนี้สื่อการเมืองโพลิติโกสหรัฐฯ เขียนบทความไว้อย่างน่าสนใจว่า...หากกล่าวด้วยความเคารพแล้ว ประธานาธิบดีไบเดนถือเป็นผู้นำที่เป็นไปตามแบบแผน ยึดมั่นในธรรมเนียมปฏิบัติ และถูกหล่อหลอมมาด้วยประสบการณ์ตลอดครึ่งศตวรรษที่ 20 ก่อนมาจบอาชีพการเมืองในศตวรรษที่ 21

ต่างกับ “โดนัลด์ ทรัมป์” ที่มีความหัวรุนแรง และดูถูกการยึดตามธรรมเนียมปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง กระนั้น ในช่วงการหาเสียงที่ผ่านมา สิ่งที่ชาวอเมริกันพบเห็นกลับกลายเป็นว่า ทรัมป์คือสิ่งที่มีความคงเส้นคงวาเหมือนเดิม ขณะที่ไบเดนกลายเป็น “สิ่งผิดปกติ” และความผิดปกตินี้เอง ที่ทำให้ไบเดนสูญเสียตำแหน่งตัวแทนพรรคเดโมแครตไปลงศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯในเดือน พ.ย.

ในประวัติศาสตร์อเมริกันตลอดช่วงศตวรรษที่ 20 ที่ผ่านมา อำนาจของตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯอยู่ที่ความสามารถในการ “สื่อสาร” หรือถ้าพูดให้เห็นภาพคือ “การใช้ห้องทำงานรูปไข่” ในการบัญชาการ “ดึงความสนใจ” ของประชาชนทั้งประเทศได้ดั่งใจนึก โน้มน้าวความคิดและสร้างอารมณ์ร่วมของคนในชาติด้วยวาจาและภาพลักษณ์ ไม่มีสถานที่ไหนในโลกอีกแล้วที่จะสามารถทำได้เช่นนี้

...

ด้วยมาตรฐานดังกล่าวนี้ ต้องเรียกว่าทรัมป์คือผู้ที่ใช้คำเทศนาของประธานาธิบดี ทั้งตอนที่อยู่ในตำแหน่งและหลังสูญเสียตำแหน่ง ได้อย่างสอดคล้องกับประวัติศาสตร์ชาติอเมริกัน ทรัมป์คือคนที่ปลุกกระตุ้นจิตใจผองชนแม้ว่าจะถูกเกลียดชังไปในขณะเดียวกัน แต่สำหรับไบเดนแล้ว คงต้องเรียกว่าเป็น “ผู้นำเพียงครึ่งตัว”

ประธานาธิบดีไบเดนทำหน้าที่ผู้นำตามโปรแกรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมือนกับผู้นำก่อนๆในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา นั่นคือการกำกับดูแลร่างกฎหมายที่ดูไกลเกินเอื้อม และใช้เครื่องมือทางการเมืองต่างๆอย่างเข้มข้นเพื่อการบริหารราชการ แต่สำหรับการแสดง “บทบาท” ในตำแหน่งแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการใช้ถ้อยคำปลุกใจผู้สนับสนุน ไล่ต้อนคู่ต่อสู้ หรือการใช้คำพูดกำหนดทิศทางการโต้วาที ได้มีการโต้เถียงกันว่าไบเดนคือประธานาธิบดีที่อ่อนแอที่สุดในรอบกว่า 100 ปี

ในช่วงเริ่มดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯนั้น บ่อยครั้งที่สุ้มเสียงของไบเดนมีความตะกุกตะกัก และยิ่งมาชัดเจนกันในช่วงปลายสมัย ว่า น้ำเสียงได้อ่อนลงเรื่อยๆ ขณะที่ระบบความคิดก็แสดงให้เห็นว่า มีเส้นบางๆมากั้นกลางระหว่างความ “สับสน” กับ “ความไม่ปะติดปะต่อกัน”

แต่ความประหลาดยิ่งกว่านั้นคือตลอดชีวิตการทำงานของไบเดน เจ้าตัวได้แสดงความต้องการอย่างยิ่งยวดว่า อยากเป็นวิทยากรที่สร้างความตื่นเต้นแก่ผู้ฟังและเปี่ยมสามารถในเวทีการเมืองเหมือนกับสมาชิกเดโมแครตคนอื่นๆ ไบเดนเติบโต มาด้วยความเทิดทูนตระกูล “เคนเนดี” ในห้องทำงานยังมีการนำรูปปั้นของโรเบิร์ต เคนเนดี มาประดับไว้หลังโต๊ะทำงาน ให้เราเห็นกันทุกครั้งเวลากล่าวสุนทรพจน์

นอกจากนี้ ไบเดนยังเป็นที่รู้จักกันดีว่าแทบไม่เคยปฏิเสธการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ชอบพูดนอกบทเนื่องจากปลาบปลื้มกับน้ำเสียงของตัวเอง และเจ้าหน้าที่เดโมแครตเคยเล่าให้ฟังว่า ไบเดนเคยซ้อมพูดอยู่คนเดียวในห้องประชุมรัฐสภา อีกทั้งจะจ้องตาเจ้าหน้าที่เขม็ง หากคนผู้นั้นมีการพลิกกระดาษ เปิดแฟ้ม หรือกดโทรศัพท์มือถือในขณะที่เจ้าตัวกำลังพูดอยู่ในโต๊ะประชุม

แม้ประธานาธิบดีไบเดนจะกล่าวชี้แจงการถอนตัวไว้อย่างน่าชื่นชมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ก็ค่อนข้างชัดเจนว่ามรดกที่ไบเดนทิ้งไว้คือความ “ย้อนแย้ง” โดยในสุนทรพจน์ครั้งนั้น ไบเดนกล่าวว่า “การถอนตัวจากการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ที่ผมได้สร้างผลงานไว้ในสมัยแรก เป็นเพราะมีความจำเป็นในการสร้างเอกภาพภายในพรรค และไม่มีสิ่งใดที่จะมาขัดขวางการพิทักษ์ประชาธิปไตยจากอันตรายของทรัมป์”

ถึงแม้คนบางส่วนจะชื่นชอบแถลงของไบเดนเพียงใด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการย้ำเตือนถึงความสามารถในการเจรจาพาทีที่ด้อยลงของประธานาธิบดี การแถลงในครั้งนั้นไบเดนมีการหยุดพูด เริ่มประโยคใหม่ ออกเสียงไม่ชัดเจน แม้ว่าจะมีสคริปต์วิ่งอยู่หน้ากล้อง เสียงที่นุ่มนวลในตอนเริ่มต้นไม่ได้นำไปสู่การใส่อารมณ์ปิดจบอย่างหนักแน่นตามที่ควรจะเป็น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด ที่ในวันนี้คำถามอย่างเช่น “เราด่วนตัดสินไบเดนเร็วเกินไปหรือไม่” และ “คณะทำงานทำอะไรกันอยู่” ได้เริ่มจาง
หายไปจากวงสนทนาต่างๆ

หลังจากขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2564 ไบเดนเป็นผู้รับผิดชอบการผ่านร่างงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯหลังสถานการณ์โควิด-19 สร้างโครงสร้างขั้นพื้นฐานใหม่ และลงทุนในเศรษฐกิจปลอดคาร์บอน จนมีการเปรียบเทียบว่าไบเดนมีความคล้ายคลึงกับอดีตประธานาธิบดี “แฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์” ของสหรัฐฯ ที่ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้พยายามฟื้นฟูประเทศจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก “Great Depression”

...

ในช่วงการหาเสียงสมัยแรก อดีตผู้นำรูสเวลต์ได้ทิ้งคำกล่าวไว้ว่า “ตำแหน่งประธานาธิบดีไม่ใช่แค่การบริหารออฟฟิศ ไม่ใช่งานวัดค่าประสิทธิภาพเหมือนกับวิศวกร แต่คือการแสดงความเป็นผู้นำอย่างมีศีลธรรม และประธานาธิบดีที่ยิ่งใหญ่ทุกคนของสหรัฐฯคือ ผู้นำทางความคิดในห้วงเวลาที่ประเทศชาติตกอยู่ในสถานการณ์อันมืดมนและประชาชนต้องการความชัดเจน”

เชื่อว่าประธานาธิบดีไบเดนรับรู้เรื่องนี้ และทราบดีว่าการจะผ่านเกณฑ์มาตรฐานของตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คือการ เป็นผู้นำทั้งตัว ไม่ใช่แค่ผู้นำเพียงครึ่งตัว.

วีรพจน์ อินทรพันธ์

คลิกอ่านคอลัมน์ “7 วันรอบโลก” เพิ่มเติม