การวางระบบการศึกษาอย่างชัดเจน ถือเป็นกระบวนการพัฒนาให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เติบใหญ่ มาอย่างเต็มประสิทธิภาพ เหมือนกับกรณีนี้ของ เหล่าเยาวชนคนรุ่นใหม่ชาวอิสราเอล ที่ทีมข่าวต่างประเทศ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐฯ ได้มีโอกาสไปร่วมพูดคุยระหว่างร่วมงาน AI Week ในมหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ และสัมผัสได้ว่า ทั้ง 9 คนที่รัฐบาล พามาพบปะในครั้งนี้ มีมุมมองและแนวคิดเกี่ยวกับ โลกไซเบอร์สเปซที่เฉียบคมเป็นพิเศษ

แม้จะมีความเกร็งเล็กน้อย หลังนั่งประจันหน้า กับแผงนักข่าวจากนานาชาติ แต่ก็สามารถตอบคำถามได้อย่างฉะฉาน สมกับเป็นเด็กหัวกะทิจาก โรงเรียนต่างๆทั่วประเทศที่ได้รับการถ่ายทอดวิชา ด้านไซเบอร์มาตลอดการศึกษาระดับชั้นมัธยมปลาย ภายใต้ชื่อว่าโครงการ “มักชิมิม” (Magshimim) ซึ่งมีทั้งการฝึกแก้โจทย์ ไขปัญหา ดูงานตามบริษัทไฮเทค พร้อมเปิดโอกาสให้เข้าร่วมกับหน่วยไซเบอร์ ของกองทัพอิสราเอลเมื่ออายุถึงเกณฑ์

ในวันนั้นทีมข่าวถามน้องๆไปว่า มีเขียนโค้ดโปรแกรมแกล้งกันเองไหม และถ้าให้แฮ็กโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนทำได้หรือเปล่า คำตอบที่มาพร้อมกับรอยยิ้มและเสียงหัวเราะคือ ทำได้สบายมาก แต่ครูห้ามนี่สิ

มีความรู้สึกเช่นไรกับการต้องเข้าเกณฑ์ทหาร รับใช้กองทัพ (ชาย 3 ปี ผู้หญิง 2 ปี) หลังจบมัธยมปลาย น้องๆตอบอย่างมั่นใจว่า ไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องเสียเวลา แต่มองว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะได้เผชิญกับโลกของความเป็นจริง หากได้อยู่ หน่วยไซเบอร์คงเจอกับการโจมตีทางไซเบอร์ต่างๆ มากมาย ถือว่าได้เรียนรู้ และสามารถนำไปต่อยอดได้ หากปลดประจำการแล้วคิดจะตั้งบริษัทสตาร์ตอัพ หรือสร้างผลิตภัณฑ์ด้านไซเบอร์ของตัวเอง

แล้วเคยคิดอยากจะเป็น “อินฟลูเอนเซอร์” จนมีชื่อเสียงโด่งดังหรือไม่ คำถามนี้มีคำตอบที่เซอร์ไพรส์คือ “ทุกวันนี้พวกผมก็มีแชนแนลของตัวเอง ยอดติดตามหลายหมื่น ไม่ได้มองการทำคอนเทนต์เป็นเรื่องไร้สาระไปทั้งหมด มันมีสิ่งที่ได้ประโยชน์อยู่ แต่สุดท้ายมองในระยะยาวว่า ไม่ปลอดภัยและไม่ยั่งยืนในการยึดเป็นอาชีพ วันหนึ่งทำพลาดพูดอะไรผิดไปนิดเดียว ก็สามารถร่วงได้ในพริบตา”.

...

ตุ๊ ปากเกร็ด

คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม