แนวคิดทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันระบุว่าดาวแคระน้ำตาล (Brown dwarf) เป็นวัตถุท้องฟ้าที่มีขนาดใหญ่กว่าดาวเคราะห์แต่เล็กกว่าดาวฤกษ์ ซึ่งก่อตัวจากเมฆก๊าซและฝุ่นขนาดใหญ่เช่นเดียวกับการก่อตัวของดาวฤกษ์ แต่มีมวลไม่เพียงพอต่อปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชัน (Nuclear Fusion) คือกระบวนการที่ทำให้เกิดพลังงานในดวงอาทิตย์และดาวฤกษ์ โดยเกิดจากการรวมตัวของนิวเคลียสของอะตอมขนาดเล็ก จนสร้างนิวเคลียสที่ใหญ่กว่า กระบวนการนี้ปล่อยพลังงานจำนวนมาก องค์ประกอบของดาวแคระน้ำตาลจะคล้ายกับดาวเคราะห์ก๊าซยักษ์อย่างดาวพฤหัสบดี ที่เป็นดาวเคราะห์ที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะของเรา

ล่าสุดนักดาราศาสตร์จากสถาบันดาราศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเอดินเบอระ ในสกอตแลนด์ เผยว่า ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ซึ่งเป็นเครื่องมือความร่วมมือขององค์การนาซา สหรัฐอเมริกา องค์การอวกาศยุโรป และองค์การอวกาศแคนาดา บันทึกสภาพอากาศบนดาวแคระน้ำตาล 2 ดวงและรายงานสภาพอากาศที่ละเอียดที่สุดเท่าที่มีมาสำหรับดาวแคระน้ำตาลที่อยู่ห่างไกลจากระบบสุริยะ ดาวแคระน้ำตาลทั้ง 2 ดวงนี้ถูกเรียกชื่อรวมกันว่า WISE 1049AB เป็นวัตถุท้องฟ้าที่สว่างที่สุดและอยู่ใกล้โลกที่สุดในบรรดาดาวประเภทนี้ โดยอยู่ห่างออกไปราว 6 ปีแสง นักดาราศาสตร์ได้วัดบรรยากาศของดาวแคระน้ำตาลแต่ละดวงโดยการวัดคลื่นแสงที่ปล่อยออกมาจากพื้นผิวของดาว ซึ่งจะเปลี่ยนไปตามบริเวณที่มีเมฆมากหรือน้อยที่โคจรเข้าและออกจากมุมมองของกล้อง นักดาราศาสตร์จึงสร้างภาพ 3 มิติโดยละเอียดเกี่ยวกับสภาพอากาศของดาวแคระน้ำตาลที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดระยะเวลา 1 รอบ หรือ 1 วัน ซึ่งอยู่ระหว่าง 5-7 ชั่วโมง

ข้อมูลที่ได้เผยให้เห็นว่าบนดาวแคระน้ำตาลเหล่านี้สภาพบรรยากาศที่รุนแรง ปกคลุมไปด้วยเมฆทรายร้อนเป็นพายุหมุนวนท่ามกลางอุณหภูมิ 950 องศาเซลเซียส มีสารเคมีพิษปะปนอยู่ในชั้นบรรยากาศ โดยมีกลุ่มอนุภาคซิลิเกตปลิวว่อนเหมือนกับพายุฝุ่นในทะเลทรายบนโลก.

...

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่