การเดินทางเยือนนครเทลอาวีฟ ตามคำเชิญของสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ไม่ได้มุ่งเน้นแค่เรื่องสถานการณ์ความขัดแย้งในฉนวนกาซาเพียงอย่างเดียว แต่ยังสะท้อนให้เห็นสิ่งสำคัญในการสร้างประเทศให้มีความเข้มแข็งอย่างรอบด้านผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรม

โดยเป็นเวลา 2 วันเต็มที่ทีมข่าวต่างประเทศ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ได้เข้าร่วมการประชุม “สัปดาห์แห่งไซเบอร์ และสัปดาห์แห่ง AI” (CyberWeek & AI Week) งานใหญ่ประจำปีเพื่อการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมไซเบอร์และระบบปัญญาประดิษฐ์ หนึ่งในเสาหลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอิสราเอล

และทำให้เห็นถึงใจความสำคัญที่ซ่อนอยู่ภายในเวทีสัมมนาครั้งนี้ ผ่านข้อมูลจากวิทยากรทั้ง 3 คน คือ “นาฟตาลี เบนเนตต์” อดีตนายกรัฐมนตรีอิสราเอล “ไอแซค เบน อิสราเอล” บิดาแห่งวงการไซเบอร์อิสราเอล และ “พลจัตวาแกบี พอร์ตนอย” ผู้อำนวยการสำนักไซเบอร์แห่งชาติ (INCD)

ทั้งนี้ วิทยากรคนแรกอดีตนายกรัฐมนตรีของอิสราเอล มองว่าความเข้มแข็งของประเทศเราเกิดจากความร่วมแรงร่วมใจกัน แต่ในขณะเดียวกัน ก็จำเป็นต้องมีความกล้าที่จะผลักดันให้เกิด “ความเปลี่ยนแปลง” ทำในสิ่งที่คิดไว้ “ให้เป็นจริงขึ้นมา” โดยมี 2 สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งคือ ประการแรก ประเทศจำเป็นต้องสร้างคนที่มีความสามารถ ผลักดันให้ประชาชนสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ไม่ใช่เอาแต่ใช้ของคนอื่น รวมทั้งมีความสามารถในการรับมือกับสถานการณ์เฉพาะหน้า และปรับเปลี่ยนตัวเองไม่ให้ยึดอยู่แต่สิ่งเดิมๆ

ตามด้วยประการที่สอง ประเทศจำเป็นต้องผลิต “คนที่เข้มแข็ง” และ “มีความทนทาน” ต่อแรงกดดันต่างๆนานาที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่า เหมือนกับยุคของเหล่าทหารอเมริกันที่กลับมาจากสมรภูมิสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่คนรุ่นนั้นกลับมาสร้างชาติให้เข้มแข็ง คนรุ่นใหม่ของอิสราเอลในตอนนี้ก็จะสามารถนำประสบการณ์ชีวิตจริงจากการเข้ารับใช้กองทัพกลับมาสร้างชาติได้เช่นกัน

...

สำหรับวิทยากรคนที่สอง บิดาแห่งวงการไซเบอร์อิสราเอล (วัย 75 ปี) เล่าเรื่องราวให้ทีมข่าวฟังว่า อิสราเอลเป็นประเทศที่เผชิญกับการโจมตีทางกายภาพมาตั้งแต่ก่อตั้ง มีศัตรูอยู่รอบด้านจนถึงทุกวันนี้ ในยุคที่คอมพิวเตอร์เพิ่งถือกำเนิดขึ้นมาใหม่ๆในช่วงยุคสงครามเย็น ฝ่ายความมั่นคงเราก็มองว่าสิ่งนี้แหละที่จะกลายเป็นสิ่งสำคัญในวงการความมั่นคง มีความเชื่อว่าในวันหนึ่งการโจมตีจะต้องมาในรูปแบบดิจิทัล ในรูปแบบของไซเบอร์สเปซ

ตอนนั้นมีความคิดกันถึงขั้นว่า เป็นไปได้ไหมที่จะเจาะระบบสั่งการให้เครื่องบินของข้าศึก ดีดตัวนักบินออกจากเครื่อง ด้วยเหตุนี้เราจึงมองว่า ถึงเวลาแล้วที่จะสร้างความเข้าใจในไซเบอร์ตั้งแต่อายุยังน้อย ถามว่าตอนนั้นเอาผู้เชี่ยวชาญมาจากไหน เราสร้างของเราขึ้นมาเอง ให้กองทัพที่ต้องรับมือกับภัยคุกคามอยู่ตลอดเวลา สร้างบุคลากรขึ้นมาเพื่อนำมาถ่ายทอดวิชา สร้างครูอาจารย์เอาไปสอนในโรงเรียน

สิ่งสำคัญคือ “ต้องมีความคิดต่อยอด” และ “ทำอย่างต่อเนื่อง” ไม่ใช่ทำสำเร็จแล้วจบกัน จัดงานฉลองปาร์ตี้ อิสราเอลมองว่าสร้างคนไม่ใช่เพื่อแค่เข้าใจไซเบอร์เท่านั้น แต่ต้องสามารถนำความรู้นำไปสร้างนวัตกรรมให้ออกมาเป็น “สินค้า” เพื่อการส่งออก (พึ่งตลาดในประเทศไม่ได้ ประชากรน้อยเกินไป 9.55 ล้านคน) พร้อมกับตั้งกลไกขึ้นมาเพื่อสนับสนุนให้คนหนุ่มสาวกล้าคิดกล้าทำ กล้าลองตั้งบริษัท ทำสตาร์ตอัพ โดยมี “รัฐบาล” เป็นผู้อำนวยความสะดวก ให้การสนับสนุน ออกกฎเกณฑ์มาคุมให้รัดกุม แต่ก็ไม่เข้มงวดเกินไป มีแข็งอ่อนประสาน

กังวลไหมเรื่อง AI ระบบปัญญาประดิษฐ์ มองว่ามันไม่ใช่ไอเดียใหม่อะไร เป็นการเพิ่มพลังให้กับคอมพิวเตอร์เท่านั้น มองเป็นเครื่องจักรเรียนรู้ แต่สุดท้ายเราจำเป็นต้องรู้จักที่จะควบคุม หลอกล่อจัดการกับมัน ขณะที่รัฐเองก็จำเป็นต้องตั้งกลไกใหม่เพื่อดูแลเรื่องการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์

ส่วนวิทยากรคนที่สาม อดีตผู้บัญชาการหน่วยข่าวกรองให้มุมมองว่า ท่ามกลางสถานการณ์ความท้าทายที่อิสราเอลกำลังเผชิญอยู่ โลกก็มีความเปลี่ยนแปลงไปทุกแห่งหน อย่างผมในวันนี้ก็ใส่เสื้อตามที่ AI แนะนำว่าเหมาะสม แต่สุดท้ายแล้วคนที่จะตัดสินก็คือพวกคุณ ว่าเสื้อที่ผมใส่มาวันนี้สร้างคุณค่าให้แก่ผม หรือสร้างความเสียหายให้แก่ผม โลกไซเบอร์สเปซและ AI เปรียบเสมือนเหรียญสองด้าน มีทั้งโอกาสและอุปสรรค

ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่เราจะต้องพัฒนาวิธีของการ “ทำงานร่วมกัน” ประสานงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในฐานะที่เป็นผู้อำนวยการสำนักไซเบอร์ขอบอกเลยว่า เรื่องของไซเบอร์ไม่สามารถทำคนเดียว สู้เองคนเดียวได้ ต้องร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและหุ้นส่วน ซึ่งวันนี้ไม่ใช่แค่การร่วมมืออย่างที่ผ่านๆมา ต้องมีความเข้มข้นมากขึ้นเป็นระบบมากขึ้น โดยขอใช้คำว่า “การทำงานร่วมกัน เวอร์ชัน 2.0”

การรับฟังเรื่องราวในวันนั้น ทีมข่าวจึงไม่แปลกใจว่าทำไมอิสราเอลจึงสามารถยืนหยัดมาได้ทุกวันนี้ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยภัยคุกคาม เพราะหลักแนวคิดจากทั้ง 3 วิทยากร ไม่ว่าการสร้างคนที่แข็งแกร่งทนทาน คิดค้นนวัตกรรมของตัวเอง คิดต่อยอด-ทำต่อเนื่อง และพร้อมที่จะขยายความร่วมมือ มันก็คือสูตรสำเร็จในการสร้างชาติให้พร้อมเผชิญหน้ากับความท้าทายในทุกรูปแบบ.

วีรพจน์ อินทรพันธ์

...

คลิกอ่านคอลัมน์ “7 วันรอบโลก” เพิ่มเติม