การสนทนากับ พลจัตวาแกบี พอร์ตนอย ผู้อำนวยการสำนักงานไซเบอร์แห่งชาติอิสราเอล (INCD) ในบทความตอนที่แล้ว ยังมีประเด็นที่น่าสนใจอีกว่า การโจมตีทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นในอิสราเอลอยู่ตลอดเวลา ได้เพิ่มขึ้นทันทีที่กองทัพ อิสราเอล เริ่มปฏิบัติการ “ดงดาบเหล็ก” ล้างแค้น กองกำลังติดอาวุธปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา

เรียกง่ายๆว่าหลังจากสงครามอุบัติขึ้น บรรดาแฮกเกอร์ก็ดำเนินการจู่โจมมาอย่างพร้อมเพรียงกัน โดยคิดเป็นสัดส่วน 68% ของการโจมตีที่เกิดขึ้นในอิสราเอลตลอดปี 2566 ถามว่ามาในรูปแบบใด ก็มีทั้งการพยายามเจาะ ระบบคอมพิวเตอร์ ความพยายามพิชชิ่งเพื่อปล่อยมัลแวร์เข้าไปในเซิร์ฟเวอร์ และหากให้ยกตัวอย่าง ก็มีเคสของการ โจมตีตัดระบบไฟฟ้า ของโรงพยาบาล ทำอันตรายแก่ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์การแพทย์ช่วยเหลือ

อดีตผู้บัญชาการหน่วยข่าวกรองยังกล่าวหาด้วยว่า จากการตรวจสอบของเราได้พบว่า การโจมตี (หลังเหตุโศกนาฏกรรม 7.10) ส่วนใหญ่ มาจากกลุ่มแฮกเกอร์ที่มีความเกี่ยวข้องกับชาติศัตรู และกองกำลังติดอาวุธเฮซบอลเลาะห์ ในเลบานอน งานนี้อยากเล่าให้เห็นภาพว่า คนส่วนใหญ่ ชอบคิดกับว่าการโจมตีทางไซเบอร์ มีลักษณะ แบบในภาพยนตร์ แต่ในความเป็นจริงนั้น การเจาะ ระบบมีเป้าประสงค์หลักๆเพื่อการรวบรวมข้อมูล

สิ่งที่มองว่าอันตรายที่สุดของการโจมตี ทางไซเบอร์ คือการกระจายข้อมูลข่าวสารที่ผิดๆ โน้มน้าวให้ประชาชนในประเทศนั้นๆ หรือในประเทศต่างๆ เชื่อในสิ่งที่บิดเบือน ไม่ถูกต้อง เหมือนอย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้ในพื้นที่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย

ด้วยเหตุนี้อิสราเอลจึงมีความพยายามในการสร้างเครือข่ายการป้องกันทางไซเบอร์ ที่เรียกว่า “ไซเบอร์โดม” คล้ายกับระบบป้องกันภัยทางอากาศชื่อดังไอเอิร์นโดม ไม่ใช่โปรแกรมซอฟต์แวร์อะไร แต่เป็นเครือข่ายการทำงานแบบ ครอบคลุม ที่หน่วยงานต่างๆจะนำข้อมูลมาแบ่งปันกัน ดำเนินการสกัดกั้นอย่างทันท่วงที ไปจนถึงการสร้างการเรียนรู้แก่พลเมืองตั้งแต่วัยเยาว์ เพื่อให้มีความต้านทานกับอันตรายจากไซเบอร์ ยืนยันว่าไม่ใช่การควบคุมคอนเทนต์ให้เป็นไปตามที่รัฐบาลต้องการ การขอกำจัดคอนเทนต์ อะไรเป็นหน้าที่ของกระทรวงยุติธรรมตรวจสอบ

...

ตรงจุดนี้ทีมข่าวได้ถามว่าในเมื่อเรากำลังเข้าสู่ยุค Gen AI ที่ระบบปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้สามารถอัดคอนเทนต์บิดเบือนได้เต็มฟีดโซเซียลแพลตฟอร์ม มองว่าเรากำลังสู้สงครามที่จะพ่ายแพ้ในท้ายที่สุดหรือไม่ พลจัตวาพอร์ตนอยยิ้มและนิ่งไปสักพัก ก่อนตอบว่า ผมเป็นทหาร พูดคำว่าแพ้ไม่ได้ นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราจึงมีความจำเป็นที่ต้องเรียนรู้ AI เข้าใจหนทางที่จะจัดการกับมัน ถือเป็นการต่อสู้ที่จะดำเนินต่อไปเรื่อยๆ และไม่มีวี่แววที่จะเห็นจุดสิ้นสุด.

ตุ๊ ปากเกร็ด

คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม