การเดินทางเยือนอิสราเอลปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ทีมข่าวต่างประเทศ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ยังได้รับโอกาสเข้าพูดคุยกับ พลจัตวา แกบี พอร์ตนอย ผู้อำนวยการสำนักงานไซเบอร์แห่งชาติ (INCD) ด้วยเช่นกัน

โดยงานนี้อดีตผู้บัญชาการฝ่ายปฏิบัติการหน่วยข่าวกรองของกองทัพอิสราเอล เปิดการสนทนาให้เห็นภาพได้ทันทีว่า สิ่งที่อิสราเอลกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน เปรียบเสมือนการเล่นหมากรุกกับคู่แข่งพร้อมๆกัน 6 คน ซึ่งบรรดาคู่แข่งเหล่านี้ก็มีกลยุทธ์การเดินหมากที่แตกต่างกันออกไป ทั้งสามารถเปิดฉากรุกใส่เราในเวลาไล่เลี่ยกัน

ไม่ขอตอบว่าผู้เล่น 6 คนดังกล่าวคือประเทศหรือกลุ่มองค์กรอะไรบ้าง แต่ทั้งหมดสามารถเรียกว่าเป็น “ศัตรู” ที่มีความเข้าใจโลกไซเบอร์เป็นอย่างดี มีการโจมตีแบบปลีกย่อย (จากแฮกเกอร์ไม่กี่ราย) และมาเป็นกลุ่มก้อน (กลุ่มแฮกเกอร์ที่รวมตัวโจมตีพร้อมกัน) โดยสถิติจากปี 2564 ถึง 2565 อัตราการโจมตีถือว่าเป็นเพิ่ม 3 เท่า

และหลังจากสถานการณ์ความขัดแย้งในฉนวนกาซาปีที่ผ่านมา อัตราโจมตีก็เพิ่มไปอีก 2.5 เท่า อีกทั้งยังเป็นเรื่องที่สร้างความเจ็บปวดอย่างยิ่ง หลังจากการตรวจสอบพบว่า เหตุการณ์กองกำลังติดอาวุธปาเลสไตน์กลุ่มฮามาสบุกเข้ามาสังหารประชาชนและจับตัวประกัน เกิดขึ้นได้เพราะพวกเรายัง “จินตนาการไม่มากพอ”

ถามว่าสิ่งนี้คืออะไร พลจัตวาพอร์ตนอยอธิบายว่า เรื่องการโจมตีทางไซเบอร์เราต้องคิดล่วงหน้าไว้ก่อนว่ามีอะไรที่เป็นไปได้ ใช้จินตนาการมานั่งคุยกันว่าหากเราจะโจมตีเราจะทำเช่นไร อย่างเหตุการณ์ “7.10” (วันที่ 7 เดือน 10) ก็เป็นผลจากการที่กลุ่มฮามาสทำการเจาะระบบ “กล้องวงจรปิด” ของฝ่ายพลเรือน จนสามารถวางแผนได้อย่างละเอียดว่า จะทำการโจมตีจุดไหน เจาะช่องโหว่ในพื้นที่ใด

...

สำหรับหน่วยงานป้องกันไซเบอร์ของอิสราเอล มีหลักการทำงานอยู่ 3 ประการ อย่างแรกคือจะต้องมีความพร้อมที่จะ “เปลี่ยนแปลง” เพราะไซเบอร์สเปซเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในวันนี้ที่ทุกอย่างเป็นอินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (IoT) เชื่อมต่อโลกออนไลน์ บ้านเรือนต่างๆก็เริ่มเป็นสมาร์ทโฮม

ประการที่สอง ความมั่นคงทางไซเบอร์จะต้องเกิดจาก “ความร่วมมือ” เราไม่สามารถทำเองคนเดียวได้ ทุกวันนี้อิสราเอลเองก็มีความร่วมมือกับบริษัทออนไลน์ยักษ์ใหญ่ บริษัทเหล่านี้เรามองว่า มีสถานะไม่ต่างกับ “รัฐ” จำเป็นต้องดีลด้วยเพื่อเพิ่มความรัดกุม ส่วนประการที่สาม คือการนำสองข้อขั้นต้นมาผสมผสานกัน เพื่อ “ขับเคลื่อน” อย่างรัดกุม ไปตามเส้นทางที่เต็มไปด้วยอุปสรรคและอันตราย.

ตุ๊ ปากเกร็ด

คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม