นายวิคตอร์ ออร์บาน ผู้นำฮังการี อ้างว่า โดนัลด์ ทรัมป์ มีแผนการอย่างละเอียดและสมเหตุสมผล เพื่อสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครน

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อ 16 ก.ค. 2567 ว่า นายวิคตอร์ ออร์บาน นายกรัฐมนตรี ระบุในจดหมายของเขาที่ส่งถึง นายชาร์ลส์ มิเชล ประธานคณะมนตรียุโรป ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ พร้อมที่จะทำหน้าที่เป็น “ตัวแทนผู้สร้างสันติภาพ” ในทันทีหลังจากเขาชนะการเลือกตั้ง

จดหมายของนายออร์บานระบุว่า ผลลัพธ์น่าจะเกิดขึ้นหลังการชนะของนายทรัมป์ คือสหภาพยุโรปควรเปิดสายตรงเพื่อสื่อสารทางการทูตกับรัสเซียอีกครั้ง และพูดคุยทางการเมืองในระดับสูงกับจีน

ผู้นำฮังการีระบุอีกว่า ชัยชนะที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของนายทรัมป์ หมายความว่า ภาระทางการเงินในการสนับสนุนความพยายามทำสงครามของยูเครน ซึ่งเคยเป็นของสหรัฐฯ กับสหภาพยุโรป จะตกมาอยู่กับ EU

และจากการที่เขาพูดคุยกับ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย, สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน และ โวโลดีเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน เมื่อไม่นานมานี้ ข้อสังเกตโดยรวมที่เขาเห็นคือ ความรุนแรงของความขัดแย้งทางทหาร จะพัฒนารุนแรงขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

นายออร์บานบอกด้วยว่า แผนยุทธศาสตร์ของยุโรปนั้น ทำสำเนามาจากนโยบายสนับสนุนสงครามของสหรัฐฯ ซึ่งเขาขอเรียกร้องให้มีการหารือกันว่า การสานต่อนโยบายนี้ต่อไปเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลหรือไม่

ด้าน นายชาร์ลส์ มิเชล ต่อกลับจดหมายของนายออร์บานด้วยการตำหนิว่า ผู้นำฮังการีไม่มีอำนาจในการเข้าร่วมการเจรจาระหว่างประเทศในนามของสหภาพยุโรป ซึ่งเขาบอกอย่างชัดเจนในเรื่องนี้ตั้งแต่ก่อนที่นายออร์บานจะเดินทางเยือนมอสโก ก่อนที่ข้าหลวงใหญ่ โจเซป บอร์เรลล์ จะย้ำเรื่องนี้อีกครั้งหลังจากนั้น

...

นายมิเชลยังปฏิเสธคำกล่าวอ้างของนายออร์บานที่ว่า EU มีนโยบายสนับสนุนสงคราม และเสริมว่า รัสเซียคือผู้รุกราน และยูเครนคือผู้ตกเป็นเหยื่อที่กำลังใช้สิทธิ์ตามกฎหมายในการป้องกันตนเอง “ไม่มีการหารือเกี่ยวกับยูเครนใดๆ จะสามารถเกิดขึ้นได้โดยปราศจากยูเครน”

ทั้งนี้ การส่งจดหมายแลกเปลี่ยนกันของผู้นำ EU ทั้งสอง เกิดขึ้นหลังจากคณะกรรมาธิการยุโรป ตัดสินใจบอยคอตการจัดการประชุมสุดยอดผู้นำชาติสมาชิกสหภาพยุโรปในกรุงบูดาเปสต์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในหน้าที่ของผู้นำฮังการี ในฐานะประธานเวียนของสหภาพยุโรป

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (15 ก.ค.) โฆษกของ นางเออร์ซูลา ฟอน แดร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ระบุว่า พวกเขาจะส่งผู้แทนในระดับข้าราชการอาวุโส (senior civil servant) เท่านั้น ไปร่วมการประชุมอย่างไม่เป็นทางการในฮังการี

นั่นหมายความว่า ทั้ง นางฟอน แดร์ เลเยน ทีมงานของเธอ รวมถึงนายบอร์เรลล์ จะไม่ไปเข้าร่วมการประชุมอย่างไม่เป็นทางการในฮังการี แต่การประชุมอย่างเป็นทางการในกรุงบรัสเซลส์กับลักเซมเบิร์ก จะดำเนินต่อไปตามปกติ

ติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreign

ที่มา : the guardian