นักดาราศาสตร์จากสถาบันดาราศาสตร์มักซ์พลังค์ในเยอรมนี เผยการส่องสำรวจกระจุกดาวโอเมก้า เซนทอรี ที่หนาแน่นไปด้วยดาวฤกษ์ประมาณ 10 ล้านดวง มองเห็นเป็นคราบบนท้องฟ้ายามค่ำคืนจากละติจูดทางตอนใต้ ตั้งอยู่ห่างจากโลกประมาณ 17,700 ปีแสง เมื่อดูผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กจะเห็นว่ากระจุกดาวนี้ไม่ต่างจากกระจุกดาวอื่นๆ ที่ประกอบด้วยกลุ่มดาวที่มีความหนาแน่นสูงในทิศทางเข้าหาศูนย์กลาง ทำให้ไม่อาจแยกแยะดาวแต่ละดวงออกจากกันได้

กระจุกดาวโอเมก้า เซนทอรี ถือว่าเป็นหัวข้อถกเถียงกันมานานในชุมชนดาราศาสตร์ ว่ามีหลุมดำมวลปานกลางอยู่ภายในกระจุกดาวจริงหรือไม่ ซึ่งบันทึกจากการสังเกตการณ์ด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลเป็นเวลากว่า 20 ปี ก็พบว่ามีการเคลื่อนที่ที่ผิดปกติของดาวฤกษ์ 7 ดวงในกระจุกดาวแห่งนี้ ทำให้เป็นหลักฐานที่น่าเชื่อได้ว่าจะมีหลุมดำขนาดกลางที่ยากจะพบอยู่ที่ใจกลาง หลุมดำเหล่านี้มีขนาดใหญ่กว่าหลุมดำทั่วไปที่เกิดจากการยุบตัวของดาวฤกษ์ดวงเดียว แต่มีขนาดเล็กกว่าหลุมดำขนาดใหญ่ที่อยู่ที่นิวเคลียสของกาแล็กซีส่วนใหญ่ นักดาราศาสตร์ระบุว่าหลุมดำนี้มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ของเราอย่างน้อย 8,200 เท่า

...

การค้นพบนี้สนับสนุนทฤษฎีที่ว่าโอเมก้า เซนทอรี เป็นบริเวณแกนกลางของกาแล็กซีที่ถูกกาแล็กซีทางช้างเผือกกลืนกินไปเมื่อหลายพันล้านปีก่อน เมื่อไม่มีดาวฤกษ์ชั้นนอกแล้ว นิวเคลียสของกาแล็กซีดังกล่าวก็หยุดนิ่งอยู่กับที่ตั้งแต่นั้นมา.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่