หลังทีมข่าวต่างประเทศ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดินทางถึงสนามบินนานาชาติเบนกูเรียน นครเทล อาวีฟ สิ่งแรกที่เราได้ยินจากปากของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง คือ “อ้อคนไทย...ขอให้มีความสุขกับการมาเยือนอิสราเอลครับ” ตามด้วยการพูดภาษาไทยสั้นๆว่า “ขอบคุณครับ”

นับเป็นสิ่งที่สร้างความประหลาดใจและแตกต่างจากประสบการณ์ของทีมงานเมื่อ 2 ปีก่อน ที่ถูกเจ้าหน้าที่เรียกเข้าห้องเย็นสอบปากคำ เนื่องจากใช้กระดาษรีไซเคิลของออฟฟิศ ซึ่งมีภาพข่าวตำรวจจับกุมปืนเถื่อน อีกทั้งยังต่างกับคนชาติอื่นๆในแถวต่อคิวช่องตรวจคนเข้าเมือง ที่ถูกเจ้าหน้าที่พาตัวไป “พูดคุย” คนแล้วคนเล่า

หากถามว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น สิ่งที่ทีมข่าวสัมผัสได้จากการเดินทางเยือนอิสราเอลเป็นเวลาเกือบสัปดาห์เมื่อช่วงปลายเดือนก่อน อาจมาจากผลของเหตุโศกนาฏกรรมวันที่ 7 ต.ค.2566 ที่กองกำลังติดอาวุธปาเลสไตน์กลุ่ม “ฮามาส” บุกโจมตีจากฉนวนกาซาเข้าไปในพื้นที่ชุมชนภาคใต้ของอิสราเอล ทำการสังหารและจับกุม “ตัวประกัน” กลับไปยังพื้นที่ปกครองเป็นจำนวนมากกว่า 250 คน

โดยจากจำนวนดังกล่าวนี้ มีคนไทยตกเป็นเหยื่อของความโหดเหี้ยม เสียชีวิตถึง 39 คน ทั้งถูกจับเป็นตัวประกันในจำนวนใกล้เคียงกัน ซึ่งทุกวันนี้ที่ผ่านมาเกือบ 10 เดือนแล้ว ก็ยังมีคนไทยที่อยู่ในความควบคุมตัวของกลุ่มฮามาส หรือกลุ่มย่อยปาเลสไตน์ อิสลามิก จิฮัด อยู่อีก 6 คน

เสมือนเป็นอารมณ์ร่วมของชาวอิสราเอลทุกคนที่มีให้กับชาวไทยในทันที ในฐานะของ “ผู้ร่วมชะตากรรม” ต่อความป่าเถื่อนของนักรบหัวรุนแรง ไม่ว่าเขาในตอนนั้นจะอยู่ในอารมณ์หงุดหงิด หรือเฉยเมยกับมุมมอง และคำถามของนักข่าวชาติอื่นๆเพียงใด ก็สามารถปรับเปลี่ยนโหมดกลายเป็นความโศกเศร้าอย่างชัดเจน พร้อมกับคำถามที่ไม่ต้องการคำตอบว่า ทำไมพวกนั้นถึงทำได้ลงคอ

...

ทั้งนี้ ประเด็นความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ถือเป็นเรื่องที่ยังมีการถกเถียงอยู่มากในแวดวงต่างประเทศรวมถึงสังคมไทย เปรียบเสมือนกับเหรียญที่มีสองด้าน ขึ้นอยู่กับจะรับข่าวสารจากที่ใด แต่แน่นอนว่าสำหรับผู้ที่อยู่ในพื้นที่ความขัดแย้ง และมีประสบการณ์ตรงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ย่อมเป็นเรื่องยากยิ่งที่จะวางสถานะให้ตัวเองอยู่ตรงกลาง และแสดงความเข้าใจว่าที่มาที่ไปมันเป็นเช่นไร

เฉกเช่นกรณีของ “นีลี บาร์ ซีไน” หนึ่งในผู้รอดชีวิตจากหมู่บ้านโศกนาฏกรรม “คิบบุตซ์ บีเอรี” ที่ทีมข่าวของเราได้มีโอกาสพบปะระหว่างการลงพื้นที่พรมแดนฉนวนกาซา ทางภาคใต้ของอิสราเอล โดยคุณยายวัย 73 ปี รายนี้ เล่าให้เราฟังว่า เป็นช่วงเช้าตรู่ที่นักรบกลุ่มฮามาสได้บุกข้ามทะเลทรายเข้ามาเป็นจำนวนกว่า 300 คน และทำการสังหารเจ้าหน้าที่ความมั่นคงและหน่วยรักษาความปลอดภัยที่ปักหลักยิงต่อสู้จนตัวตาย

คิบบุตซ์หรือ “หมู่บ้าน” ของอิสราเอล มีลักษณะที่แตกต่างจากสังคมเมือง คือทุกคนจะมีความสนิทสนมใกล้ชิดกัน แบ่งปันข้าวของเครื่องใช้ สร้างธุรกิจร่วมกันแบ่งปันผลกำไร อย่างของหมู่บ้านบีเอรีคือธุรกิจโรงพิมพ์ที่ครอบครัวต่างๆร่วมเป็นเจ้าของ แล้วอยากให้ลองนึกดูว่า หากเป็นชุมชนของตัวเอง เพื่อนบ้านที่รู้จักกันมาไม่รู้กี่ปีต่อกี่ปี ถูกเข่นฆ่าอย่างทารุณ บ้านเรือนที่สวยงามถูกเผาทำลายเหลือเพียงซากปรักหักพัง ทั้งเต็มไปด้วยร่องรอยของกระสุนปืนกล ในลักษณะที่เห็นได้ชัดว่า ตั้งใจจะฆ่าคนให้ได้มากที่สุด

วันนั้นทุกคนได้พยายามอยู่แต่ในบ้าน พร้อมพาเด็กๆของตัวเอง รวมถึงลูกหลานของเพื่อนบ้านที่วิ่งหนีมาจากพื้นที่สังหารหลบซ่อนตัว ยังจำได้ถึงเสียงปืนที่ดังระงม และเสียงตะโกนภาษาอารบิกของเหล่านักรบหัวรุนแรง แต่ที่ใจสลายคือสภาพของหมู่บ้านหลังเกิดเหตุ เพื่อนบ้านที่รู้จักกันถูกสังหารยกครัว ถูกเผาเสียชีวิตอยู่ที่ซ่อนตัวภายในบ้าน รวมกันแล้วกว่า 101 คน ไม่ว่าจะเป็นเด็ก สตรี หรือคนชรา มีคนในชุมชนถูกจับไปเป็นตัวประกันกว่า 30 คน ทุกวันนี้ยังคงถูกคุมขังอยู่ในฉนวนกาซา 11 คน

ไม่ไกลจากหมู่บ้านบีเอรี ทีมข่าวต่างประเทศ ยังได้เข้าเยือนสถานที่เกิดเหตุ “โนวา มิวสิก เฟสติวัล” ซึ่งเรียงรายไปด้วยป้ายของเหยื่อผู้เสียชีวิต-ผู้ที่ถูกจับไปเป็นตัวประกัน และเต็มไปด้วยชาวอิสราเอลที่เดินทางมาแสดงความไว้อาลัย รวมถึง “สุสานรถยนต์” หลายร้อยคันของผู้เสียชีวิตจากการถูกนักรบฮามาสดักยิงตามทางหลวงด้วยเช่นกัน ซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องราวของความกล้าหาญ และความเสียสละต่อเพื่อนร่วมชาติ

กระนั้น ท่ามกลางบรรยากาศอันเศร้าสลดปนคราบน้ำตาของชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ มีสิ่งหนึ่งที่แฝงอยู่ในดวงตาของชาวอิสราเอลทุกคนในวันนั้น นั่นคือความเจ็บแค้นอย่างแสนสาหัส พร้อมการร้องขอ “ความเข้าใจ” ต่อสิ่งที่อิสราเอลจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อไม่ให้เหตุการณ์เยี่ยงนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต ไม่ใช่การเรียกคะแนนความสงสาร หรือขอความช่วยเหลือจากนานาชาติแต่อย่างใด

การเดินทางเยือนประเทศอิสราเอลภายใต้ภาวะสงครามครั้งนี้ ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจอยู่อีกมากมาย ซึ่งทีมข่าวต่างประเทศขออนุญาตนำประสบการณ์ที่ได้ไปพบเห็น กลับมาเล่าสู่กันฟังกับท่านผู้อ่านไปตลอดสัปดาห์นี้ ผ่านคอลัมน์หน้าต่างโลก และ 7 วันรอบโลก ในวันอาทิตย์ของสัปดาห์ถัดๆไปครับผม.

...

วีรพจน์ อินทรพันธ์

คลิกอ่านคอลัมน์ “7 วันรอบโลก” เพิ่มเติม