เมื่อเร็วๆนี้ นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยปอนติฟิคัล คาธอลิก ในเปรู เผยการขุดพบซากปรักหักพังของวิหารเก่าแก่ในเขตทะเลทรายซานา ในภูมิภาคลัมบาเยเก ทางตอนเหนือของเปรู หลักฐานที่พบคือโครงกระดูกของผู้ใหญ่ 3 คน อยู่ท่ามกลาง ซากปรักหักพังของอาคารหลายชั้น โดยซากหนึ่งในนั้นมีเครื่องเซ่นไหว้ ที่อาจจะห่อด้วยผ้าลินินหรือเสื้อผ้ารวมอยู่ด้วย

นักโบราณคดีเผยว่า แม้ว่าการใช้วิธีหาอายุด้วยคาร์บอนกัมมันตรังสีจะสามารถระบุอายุได้อย่างชัดเจน แต่โครงสร้างที่ขุดพบทางตอนเหนือของเปรู ดูเหมือนว่าจะเป็นวิหารสำหรับทำพิธีกรรม มีอายุกว่า 4,000 ปี การค้นพบนี้สนับสนุนหลักฐานที่บ่งชี้ถึงประเพณีอันยาวนานในการสร้างวิหารตามแนวชายฝั่งทางตอนเหนือของเปรูในยุคนั้น โดยซากโครงกระดูกมนุษย์ที่พบบริเวณใกล้เคียงอาจเชื่อมโยงกับพิธีกรรมทางศาสนาเหล่านี้

...

ขณะที่ผนังด้านหนึ่งของวิหารมีภาพวาดนูนสูงของบุคคลในตำนาน ที่มีร่างกายเป็นมนุษย์และมีศีรษะเป็นนก นักโบราณคดีอธิบายว่าการออกแบบนี้มีอายุก่อนยุควัฒนธรรมซาวิน (Chavin) ก่อนยุคการมาถึงของชาวสเปน คนในวัฒนธรรมดังกล่าวเคยตั้งรกรากอยู่บริเวณชายฝั่งตอนกลางของเปรูตั้งแต่ราว 900 ปีก่อนคริสตกาล นอกจากนี้ ยังพบซากวิหารอีกแห่งในบริเวณใกล้เคียง มีอายุย้อนไปถึงยุควัฒนธรรมโมเช (Moche) ที่เจริญรุ่งเรืองเมื่อ 1,400 ปีก่อน บนชายฝั่งตอนเหนือของเปรูด้วย.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่