พ.ศ.2536 ศิรธันย์ แสงสินธุศร (กอล์ฟ) เรียนปริญญาวิศวกรรมที่เมืองซามารา สหพันธรัฐรัสเซีย จบการศึกษาแล้วก็ทำธุรกิจที่เกี่ยวกับรัสเซียมาโดยตลอด ก่อนที่ผมจะเขียนคอลัมน์วันนี้ พี่กอล์ฟโทร.มาชวนไปดูงานด้านวัฒนธรรม โดยเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปเมืองอีร์คุตสค์ของรัสเซีย และตระเวนลงใต้ไปที่กรุงอูลานบาตอร์ มองโกเลีย ใช้เวลา 8 วัน ผมบอกว่ายินดีเดินทางไปด้วย น้องที่นั่งข้างๆ ได้ยินการสนทนา บอกว่าตนสนใจวัฒนธรรมไซบีเรียและมองโกเลีย ขอไปด้วยได้ไหม ผมบอกว่าคุยกับคุณกอล์ฟกันเองครับ โทร.09-4251-7884
8 กรกฎาคม 2024 เซรเก รยาบคอฟ รมช.ต่างประเทศรัสเซีย ให้ข้อมูลว่า การที่อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศเมื่อ 20 ตุลาคม 2018 ให้สหรัฐฯถอนตัวจากสนธิสัญญากำลังนิวเคลียร์พิสัยกลาง (INF) และต่อมาสหรัฐฯระงับสนธิสัญญา INF อย่างเป็นทางการเมื่อ 2 สิงหาคม 2019 นั้น
“...ถอนตัวจากสนธิสัญญาเพื่อสร้างระบบอาวุธไว้ข่มขู่สาธารณรัฐประชาชนจีน” “สหรัฐฯจะเริ่มประจำการขีปนาวุธพิสัยกลางในเอเชีย-แปซิฟิกและที่ยุโรป แต่ที่แน่นอนก็คือในเอเชีย-แปซิฟิก” “รัสเซียและจีนมองว่าการที่สหรัฐฯนำระบบอาวุธพิสัยใกล้และปานกลางเข้ามาประจำการในเอเชีย-แปซิฟิกมีจุดประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ เนื่องจากอาวุธเหล่านี้สามารถยิงโจมตีเป้าหมายที่อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดินของรัสเซียและจีนได้”
คำพูดของรยาบคอฟตรงกับคำปราศรัยของทรัมป์ที่เคยพูดในอดีตว่า ต้องเลิกสนธิสัญญากำลังนิวเคลียร์พิสัยกลาง เพราะสนธิสัญญานี้ทำขึ้นระหว่างสหรัฐฯและสหภาพโซเวียต (รัสเซียเป็นผู้สืบสิทธิ) จีนไม่ได้อยู่ในสนธิสัญญานี้ด้วย INF ทำให้จีนสามารถขยายกองกำลังนิวเคลียร์พิสัยกลางได้เพียงฝ่ายเดียว ทำให้สหรัฐฯเสียเปรียบ
เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปในวันที่มิฮาอิล กอร์บาชอฟ รับตำแหน่งผู้นำคนใหม่ของสหภาพโซเวียต แกเสนอคำว่ากลาสนอสต์ ซึ่งหมายถึงการเปิดกว้าง ความจริงใจ และการวิจารณ์ตนเอง และเปเรสตรอยกาที่หมายถึงการปรับเปลี่ยน นโยบายกลาสนอสต์-เปเรสตรอยกาก็คือนโยบายเปิด-ปรับ หมายถึงการเปิดและปรับทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจในระดับกว้างและลึกด้วยการผ่อนคลายความเข้มงวดทางการเมืองและสังคมเพื่อให้ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพอย่างกว้างขวางมากขึ้น
...
ช่วงที่กอร์บาชอฟเป็นผู้นำโซเวียต ฝ่ายสหรัฐฯคืออดีตประธานาธิบดีเรแกน ฝ่ายอังกฤษคืออดีตนายกรัฐมนตรีแทตเชอร์ นายกอร์บาชอฟเป็นคนที่มีบุคลิกภาพอ่อน อ่อนทั้งภายในและภายนอก แกหลงคารมเรแกนและแทตเชอร์ถึงขนาดร่วมประชุมสุดยอดระหว่างโซเวียตและสหรัฐฯมากถึง 4 ครั้ง คือที่นครเจนีวา (1985) กรุงเรกยาวิก (1986) กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. (1987) และกรุงมอสโก (1988) ในการประชุมสุดยอดเดือนธันวาคม 1987 สหรัฐฯและโซเวียตลงนามความตกลงลดกำลังอาวุธนิวเคลียร์พิสัยใกล้และกลางในทวีปยุโรปทั้งหมด
ใครที่เรียนประวัติศาสตร์สหภาพโซเวียตและรัสเซียอย่างละเอียดลึกซึ้ง จะรู้สึกเสียดายที่นายกอร์บาชอฟหลงคารมคมคายของฝ่ายตะวันตก ถึงขนาดถอนกำลังทหารโซเวียตออกจากอัฟกานิสถาน เจรจากับสหรัฐฯเพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งในแองโกลาและนิคารากัว นายกอร์บาชอฟนี่ละครับ ที่ให้ถอนกำลังทหารโซเวียตออกจากกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก และยอมให้มีการรวมเยอรมนีตะวันออกกับตะวันตกเข้าด้วยกัน
เรแกนเสกมนต์คาถาและเป่าไปที่ปานแดงบนหัวล้านของนายกอร์บาชอฟ พร้อมทั้งขอให้ประเทศใหม่ที่จะมีชื่อว่าสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต ทั้งที่เยอรมนีก็อยู่ไม่ไกลจากโซเวียต พอนายกอร์บาชอฟผงกหัวกึกๆ ยอมรับให้เยอรมนีเข้านาโต นายเรแกนที่เคยเรียกโซเวียตว่า Evil Empire หรือจักรวรรดิชั่วร้ายก็พูดว่า อ้า Evil Empireนั้นเป็นอดีตไปแล้ว
พฤศจิกายน 1989 กอร์บาชอฟกับจอร์จ บุช ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ลงนามยุติสงครามเย็นที่เกาะมอลตา พวกตะวันตกก็เฮกันใหญ่ และตอบแทนนายกอร์บาชอฟด้วยการให้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ค.ศ.1990
ความอ่อนแอของนายกอร์บาชอฟทำให้สหภาพโซเวียตล่มสลายใน ค.ศ.1991 รัสเซียกลายเป็นประเทศเละตุ้มเป๊ะระหว่าง ค.ศ.1992-1999 ถ้าไม่ได้ปูตินมากอบกู้สถานการณ์ ป่านนี้รัสเซียคงแตกแหกอกไปแล้วอีกหลายรอบ.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com