เยอรมนี เป็นหนึ่งในประเทศที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ เมื่อปี 2566 สถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย ก็จัดงาน “ไคลเมต ทอล์กส์” (Climate Talks) เปิดเวทีครั้งใหญ่ให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม นักวิชาการ นักการเมือง องค์กรต่างๆ ได้ร่วมวงสนทนา เผยให้เห็นปัญหา มองหนทางแก้ไขและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ทั้งให้ผู้คนตระหนักรู้ถึงการลดปล่อยการมลพิษ

ขณะความเคลื่อนไหวของไทยในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ รัฐบาลไทยได้ประกาศในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 ในปี 2564 ตั้งเป้าว่าไทยจะบรรลุการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี 2593 และลดก๊าซเรือนกระจกจนเป็นศูนย์ภายในปี 2608 แต่เป้าหมายอันใกล้ก็คือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 20% ภายในปี 2573

ซึ่งความร่วมมือระหว่างเยอรมนีและไทยในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ได้ก่อร่างเป็น Thai-German Climate Talk หรือแผนงานความร่วมมือ ไทย-เยอรมัน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพูดคุยภายใต้แผนงานดังกล่าวก็มีอย่างต่อเนื่อง และเมื่อเร็วๆนี้ สถานทูตเยอรมนี กรุงเทพฯ ก็เปิดพื้นที่ในสถานทูตให้เป็นเวทีสนทนาแบบย่อยๆ แต่เนื้อหาอัดแน่นเข้มข้น ในหัวข้อ “Thai-German Climate Talks on Advancing Sector Coupling in Transport and Energy” มีบุคลากรจากหลายภาคส่วน ทั้งจากวงการเมือง วงการศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการอิสระด้านการเงิน มาร่วมถกกันอีกครั้ง

หลักใหญ่ของการพูดคุยกันก็คือแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านพลังไฟฟ้าและการขนส่งทั้งในเยอรมนีและไทย การลดการปล่อยคาร์บอนในภาคการขนส่ง ส่วนประเด็นหลายอย่างที่ถูกยกขึ้นมาคุยกันก็ครอบคลุมหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเผชิญเทคโนโลยีใหม่ๆ ยานพาหนะที่ชาญฉลาด สภาพแวดล้อมที่หลากหลายในปัจจุบัน การจัดเก็บพลังงาน การคาดการณ์มูลค่าการลงทุนในเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับพลังงานและการขนส่ง ไปจนถึงกรอบการกำกับดูแลโครงสร้างพื้นฐาน นโยบายที่จะช่วยสร้างกลไกที่จะอนุญาตให้ภาคเอกชนหรือบริษัทแสวงหาส่วนแบ่งในเรื่องของพลังงานหมุนเวียนได้สูงขึ้น แน่นอนว่าที่ขาดไม่ได้ก็คือมุมมองอำนาจทางการเงิน การประสานงานของหลายภาคส่วน ผลกระทบทางสังคม รวมถึงการเปลี่ยนแปลง ต่างๆที่เกิดขึ้นต้องยุติธรรมและต้องใช้นโยบายที่ดีที่สุด ฯลฯ

...

แม้จะเป็นวงสนทนาวงย่อมๆ แต่เชื่อว่าสาระที่ถกกันจะเป็นช่วยสร้างแรงกระเพื่อมสำคัญต่อสังคม.

ภัค เศารยะ

คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม