• โบอิ้งตัดสินใจทำข้อตกลงรับผิดคดีฉ้อโกง ซึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุเครื่องบิน 737 Max ตก 2 ลำต่อเนื่องจนมีผู้เสียชีวิต 346 ศพ เมื่อหลายปีก่อนแล้ว

  • ภายใต้ข้อตกลง โบอิ้งจะจ่ายเงินค่าปรับเพิ่มอีกหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ และตกลงทุนเงินจำนวนมาก เพิ่มพัฒนาด้านความปลอดภัย

  • ฝ่ายครอบครัวผู้เสียชีวิตหลายคนมองว่า โทษที่โบอิ้งจะได้รับจากข้อตกลงนี้ เบาเกินไป และเตรียมตัวเดินทางไปยังศาลในรัฐเท็กซัส เพื่อขอให้ผู้พิพากษาปฏิเสธข้อตกลง

บริษัท โบอิ้ง ตัดสินใจทำข้อตกลงยอมรับผิดกับอัยการสหรัฐฯ เพื่อยุติคดีฉ้อโกงที่เกี่ยวกับการอนุมัติใช้งานเครื่องบินโดยสารรุ่น 737 Max ก่อนที่เครื่องรุ่นนี้จะไปตกต่อเนื่องกัน 2 ลำ ภายในเวลาไม่กี่เดือน จนทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมมากถึง 346 ศพแล้ว

ดูเหมือนว่าโบอิ้งจะคำนวณแล้วว่า การยอมรับผิดให้คดีจบไป ดีกว่าปล่อยให้การพิจารณาคดียืดเยื้อเป็นเวลานาน แต่ญาติผู้เสียชีวิตบางคนไม่ยอมรับ เพราะมองว่าบทลงโทษเบาไปเมื่อเทียบกับจำนวนความสูญเสีย และขอให้ผู้พิพากษาศาลรัฐบาลกลางในเท็กซัสปฏิเสธข้อตกลงนี้ พวกเขายังต้องการเอาผิดผู้บริหารของโบอิ้งด้วย

ในการยื่นคำร้องต่อศาลเมื่อกลางดึกวันอาทิตย์ (7 ก.ค. 2567) ก่อนถึงเส้นตายเวลาเที่ยงคือ กระทรวงยุติธรรมเปิดเผยเรื่องข้อตกลงดังกล่าว และระบุว่า ข้อหาฉ้อโกงนั้นเป็น “ข้อกล่าวหาร้ายแรงที่สุดที่สามารถพิสูจน์ได้” ที่พวกเขาสามารถฟ้องร้องโบอิ้งได้ ซึ่งตามข้อตกลงโบอิ้งจะต้องจ่ายค่าปรับอีก 243.6 ล้านดอลลาร์ เท่ากับที่เคยจ่ายในปี 2564

กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ บอกอีกว่า ภายใต้ข้อตกลง โบอิ้งจะถูกตัดสินว่ามีความผิดจริงในข้อหาฉ้อโกง ฐานให้ข้อมูลที่บิดเบือนความจริงแก่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ จนได้รับการรับรองให้ใช้งานเครื่อง 737 Max ในปี 2560 ก่อนจะเกิดอุบัติเหตุในปี 2561 และ 2562

นอกจากคดีนี้แล้ว โบอิ้งยังกำลังถูกสอบสวนกรณีที่ประตูเครื่องบินโดยสาร 737 Max 9 ของสายการบินอะแลสกา แอร์ไลน์ หลุดกลางอากาศเมื่อเดือนมกราคม จนลูกจ้างทั้งในอดีตและปัจจุบันหลายคนออกมากล่าวหา เรื่องการละเลยความปลอดภัยในการผลิตเครื่องบิน และการเอาคืนผู้ที่ออกมาแฉของโบอิ้งด้วย

...

โบอิ้งจะยอมรับผิดเรื่องอะไร?

โบอิ้งตกลงจะยอมรับความผิดข้อหา สมคบกันฉ้อโกงสหรัฐฯ ซึ่งในกรณีนี้คือ ให้ข้อมูลที่บิดเบือนความจริงหลายอย่างแก่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบของ FAA รวมถึงเรื่องซอฟต์แวร์ MCAS ที่โบอิ้งใส่เข้าไปเพื่อแก้ปัญหาอาการ ‘สตอลล์’ หรือการสูญเสียแรงยกบริเวณปีกเครื่องบิน โดยไม่เปิดเผยเรื่องความผิดพลาดระหว่างทดสอบ เพื่อไม่ต้องฝึกฝนนักบินเพิ่ม ซึ่งจะเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่าย

แต่การสืบสวนในเวลาต่อมาพบว่า ระบบ MCAS ซึ่งจะควรกดจมูกเครื่องบินที่เชิดขึ้นเพราะอาการสตอลล์ลงมา ทำงานมากเกินไปจนเครื่องบินพุ่งดิ่งลง และมีเวลาให้นักบินแก้ไขเพียงน้อยนิดเท่านั้น ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดโศกนาฏกรรมทั้ง 2 ครั้ง

กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ ยื่นฟ้องร้องคดีนี้เป็นครั้งแรกในปี 2564 แต่ตอนนั้นทางกระทรวงตกลงว่าจะไม่ดำเนินคดี หากโบอิ้งยอมจ่ายค่าปรับจำนวน 243.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และอยู่ภายใต้การทัณฑ์บนเป็นเวลา 3 ปี โดยในระหว่างนั้น โบอิ้งต้องดำเนินนโยบายป้องกันและตรวจสอบกระบวนการทำงานภายในบริษัทเพื่อไม่ให้มีการละเมิดกฎหมายฉ้อโกงอีก

อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กระทรวงยุติธรรมตัดสินว่า โบอิ้งไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงที่จะแก้ปัญหาภายในบริษัท หลังเกิดเหตุขัดข้องกับเครื่องบินของพวกเขาหลายกรณีตั้งแต่เข้าสู่ปี 2567 เป็นต้นมา รวมถึงกรณีของอะแลสกา แอร์ไลน์

โบอิ้งตกลง ยกระดับความปลอดภัย

หากข้อตกลงฉบับนี้ได้รับการอนุมัติ โบอิ้งจะต้องจ่ายค่าปรับเพิ่มอีก 243.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมกับค่าปรับครั้งก่อนเป็น 487.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งกระทรวงยุติธรรมระบุว่าเป็นค่าปรับสูงที่สุดที่สามารถเรียกได้สำหรับคดีฉ้อโกงนี้

ข้อตกลงยังกำหนดให้โบอิ้งลงทุนเงินอย่างน้อย 455 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อพัฒนาเรื่องความปลอดภัย และต้องอยู่ภายใต้ทัณฑ์บนเป็นเวลา 3 ปี โดยกระทรวงยุติธรรมจะแต่งตั้งเจ้าหน้าที่สังเกตการณ์อิสระ เพื่อสอดส่องดูแลว่า โบอิ้งปฏิบัติตามเงื่อนไขในข้อตกลงหรือไม่

นอกจากนั้น บรรดาผู้อำนวยการบอร์ดบริหารของโบอิ้ง จะต้องเข้าพบปะกับเหล่าญาติผู้เสียชีวิตในเหตุสลดทั้ง 2 ครั้งด้วย

...

ญาติผู้ตายรับไม่ได้ จี้ผู้พิพากษาปัดข้อตกลง

ผู้พิพากษาศาลแขวงสหรัฐฯ รีด โอ’คอนเนอร์ ในเมืองฟอร์ตเวิร์ธ รัฐเท็กซัส จะเปิดการพิจารณาคดีก่อนที่เขาจะตัดสินใจว่า จะรับหรือปฏิเสธข้อตกลงฉบับนี้ ซึ่งหากรับ เขาจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงบทลงโทษใดๆ ที่โบอิ้งจะได้รับได้อีก หรือหากปฏิเสธ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่อัยการกับโบอิ้งจะกลับไปทำข้อตกลงฉบับใหม่

นางนาเดีย มิลเลอรอน ผู้เสียลูกสาวไปพร้อมกับคนอื่นๆ อีก 156 คนบนเที่ยวบิน 302 ของเอธิโอเปีย แอร์ไลน์ส กล่าวว่า ข้อตกลงยอมรับผิดของโบอิ้งทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ญาติผู้เสียชีวิต พวกเขาคัดค้านเงื่อนไขเรื่องการทำทัณฑ์บน 3 ปี เพราะได้รับข้อมูลมาว่า โบอิ้งจะได้เป็นผู้เลือกเจ้าหน้าที่ตรวจสอบด้วยตัวเอง

กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตยังเรียกร้องให้มีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ 2 คน คนหนึ่งตรวจสอบการประกอบเครื่องบินของโบอิ้ง ส่วนอีกคนตรวจสอบวัฒนธรรมด้านความปลอดภัยของบริษัท

มิลเลอรอนบอกด้วยว่า ค่าปรับ 243.6 ล้านดอลลาร์ เหมือนเป็นเพียงการตีข้อมือของโบอิ้ง ซึ่งมีรายได้ต่อปีสูงถึง 7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เธอยังมองว่า การให้ผู้อำนวยการบอร์ดบริหารของโบอิ้งมาพบกับครอบครัวผู้วายชนม์ เป็นย่างก้าวที่ดี แต่ไม่น่าจะมีความหมายมากนัก เพราะเธอไม่เชื่อมั่นในคณะกรรมการชุดนี้แล้ว

มิลเลอรอนเชื่อว่า การไต่สวนจะเป็นยาดีเพื่อแก้ปัญหาเรื่องวัฒนธรรมความปลอดภัยของโบอิ้ง โดยเธอกับญาติผู้เสียชีวิตหลายครอบครัวได้ยื่นคำร้องต่อศาลแขวงในเท็กซัสแล้ว ว่าพวกเขาจะไปคัดค้านข้อตกลงนี้ต่อหน้าผู้พิพากษาโอ’คอนเนอร์ ซึ่งตอนนี้เธอกำลังวางแผนการเดินทางไปเท็กซัสร่วมกับสมาชิกครอบครัวผู้เสียชีวิตจำนวนหลายร้อยคน

...

โบอิ้งยังถูกดำเนินคดีอื่นได้

ข้อตกลงดังกล่าวครอบคลุมเฉพาะการกระทำของโบอิ้งก่อนเกิดเหตุเครื่องบินตกทั้ง 2 ครั้งเท่านั้น และไม่ได้คุ้มครองพวกเขาจากการถูกสอบสวนหรือตั้งข้อกล่าวหา ในกรณีอื่นๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น หมายความว่าการสืบสวนกรณีประตูของ อะแลสกา แอร์ไลน์ หลุดกลางอากาศเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ก็ยังสามารถดำเนินต่อไปได้

นอกจากนั้น กระทรวงยุติธรรมยืนยันด้วยว่า ข้อตกลงนี้ไม่ได้คุ้มครองผู้บริหารคนใดของโบอิ้ง แต่การตั้งข้อหาส่วนบุลคลนั้นไม่น่าจะเกิดขึ้น เนื่องจากข้อจำกัดทางกฎหมาย

การยอมรับผิดในครั้งนี้อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถของบริษัทโบอิ้ง ในการทำสัญญาที่ให้ผลตอบแทนอย่างงามกับหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาล เช่น กระทรวงยุติธรรม หรือนาซา แต่มันก็ช่วยให้พวกเขารอดพ้นจากการรับการไต่สวนเป็นเวลานาน ซึ่งอาจเปิดเผยการตัดสินใจต่างๆ ของบริษัท ที่นำไปสู่โศกนาฏกรรมทั้ง 2 ครั้ง อันจะทำให้สังคมเกิดความเคลือบแคลงในตัวพวกเขามากยิ่งขึ้นไปอีก





ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี

ที่มา : apnewsusatodaynewsweek