• การเมืองฝรั่งเศสเกิดการพลิกล็อกครั้งใหญ่ในการเลือกตั้งรัฐสภารอบ 2 เมื่อแนวร่วมพันธมิตรพรรคฝ่ายซ้าย "นิว ป๊อปปูลาร์ ฟรอนต์" สามารถคว้าชัยชนะ ขณะที่พรรคเนชันแนล แรลลี พรรคฝ่ายขวาจัด ของ นางมารีน เลอ เปน ซึ่งได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งรอบแรก มีคะแนนเสียงเป็นลำดับที่ 3 ตามหลังพันธมิตรสายกลางของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง
  • ผลคะแนนยังชี้ด้วยว่า จะไม่มีพรรคใดได้คะแนนเสียงแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว ซึ่งจะส่งผลให้ฝรั่งเศสตกอยู่ในภาวะ "สภาแขวน" โดยไม่มีทิศทางที่ชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ก่อนภารกิจสำคัญอย่างการประชุมสุดยอดนาโต และการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงปารีส
  • ในขณะนี้ในการเมืองฝรั่งเศสมีพลังทางการเมืองหลายขั้ว ประกอบด้วย กลุ่มอำนาจสำคัญ 3 กลุ่ม ได้แก่ ฝ่ายซ้าย, ขวาจัด, และสายกลาง รวมถึงกลุ่มกลางขวาอีกกลุ่ม และในแต่ละกลุ่ม ก็มีพรรคการเมืองที่แข่งขันกันเองอยู่ด้วย และเนื่องจากไม่มีพรรคการเมืองใดที่ครองเสียงข้างมาในรัฐสภา จากนี้ไปอาจจะต้องใช้ระยะเวลาระยะหนึ่งในการจัดตั้งรัฐบาลผสมจากกลุ่มกลางขวาไปถึงกลุ่มพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย

การเมืองฝรั่งเศสมาถึงจุดพลิกผันอีกครั้ง หลังจากการเลือกตั้งรัฐสภารอบแรก เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา พรรคการเมืองฝ่ายขวาจัดของฝรั่งเศส อย่างพรรคเนชันแนล แรลลี (National Rally) หรือเอ็นอาร์ กลายเป็นพรรคที่มีคะแนนนำถึง 33% และคาดว่ามีโอกาสที่จะกลับมาปกครองประเทศอีกครั้ง แต่เกิดการพลิกล็อกครั้งใหญ่ในการเลือกตั้งรัฐสภารอบ 2 เมื่อแนวร่วมพันธมิตรพรรคฝ่ายซ้าย "นิว ป๊อปปูลาร์ ฟรอนต์" สามารถคว้าชัยชนะ ขณะที่พรรคเนชันแนล แรลลี กลับได้ คะแนนเสียงเป็นลำดับที่ 3 ตามหลังพันธมิตรสายกลางของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ชาวฝรั่งเศสยังคงไม่ต้องการให้ฝ่ายขวาจัดอยู่ในอำนาจ

...

เมื่อภาพกราฟิกปรากฏขึ้นหน้าจอของสถานีโทรทัศน์ในฝรั่งเศส กลับไม่ปรากฏว่าพรรคที่มีคะแนนนำคือ พรรคเนชันแนล แรลลี ของ นางมารีน เลอ เปน และนายจอร์แดน บาร์เดลลา นักการเมืองหนุ่มอนาคตไกล

เกิดอะไรขึ้นในการเลือกตั้งรอบที่สอง

สำหรับผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการในขณะนี้ จากข้อมูลของกระทรวงมหาดไทยฝรั่งเศส และหนังสือพิมพ์เลอมงด์ ระบุว่า พันธมิตรพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย "นิว ป๊อปปูลาร์ ฟรอนต์" หรือ เอ็นพีเอฟ กลุ่มพันธมิตรการเมืองฝ่ายซ้าย น่าจะคว้าจำนวนที่นั่งในสภาได้ 182 ที่นั่ง ตามมาด้วยพันธมิตรสายกลางของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ที่ 168 ที่นั่ง ขณะที่พรรคเนชันแนล แรลลี ของนางมารีน เลอ เปน และพันธมิตรได้ 143 ที่นั่ง ซึ่งหมายความว่าไม่มีกลุ่มใดที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้ นั่นคือไม่มีพรรคใดได้มากกว่า 289 ที่นั่ง จากทั้งหมด 577 ที่นั่ง และทำให้ตอนนี้ฝรั่งเศสกำลังเผชิญกับสภาวะ "รัฐสภาแขวน"

ผลลัพธ์ดังกล่าวสร้างความพ่ายแพ้อย่างเจ็บปวดให้กับพรรคเนชันแนล แรลลี พรรคขวาจัด ซึ่งคาดว่าจะชนะการเลือกตั้ง แต่ต้องพบกับความผิดหวัง ที่ชี้ให้เห็นว่าชาวฝรั่งเศสยังคงปฏิเสธการเมืองแบบขวาจัดอีกครั้ง หลังจากที่เอ็นพีเอฟ และพันธมิตรการเมือง "อองซอมเบลอ" ของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ได้ทำข้อตกลงการลงคะแนนทางยุทธวิธีมากกว่า 200 ฉบับระหว่างผู้สมัครฝ่ายกลางและฝ่ายซ้าย เพื่อจุดประสงค์ในการสกัดกั้นไม่ให้พรรคขวาจัดคว้าเสียงข้างมากโดยสมบูรณ์ ทั้งนี้ ย้อนไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีการคาดการณ์ว่าพรรคเนชันแนล แรลลี อาจจะกวาดที่นั่งในการเลือกตั้งรอบที่สองนี้ได้เกือบ 300 ที่นั่ง แต่นั่นก็ไม่เกิดขึ้น

ด้าน นายจอร์แดน บาร์เดลลา หนึ่งในผู้นำพรรคเนชันแนล แรลลี กล่าวโทษผลการเลือกตั้งครั้งนี้ว่าเป็นฝีมือของ "พันธมิตรทางการเมืองที่ผิดธรรมชาติ" ที่ต้องการขัดขวางไม่ให้พวกเขาขึ้นสู่อำนาจ

แนวร่วมฝ่ายซ้ายจะก่อตัวขึ้นหรือไม่?

เรื่องนี้ยังไม่มีความชัดเจนมากนัก เนื่องจากฝรั่งเศสไม่คุ้นเคยกับการสร้างแนวร่วมหลังการเลือกตั้ง ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปในระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภายุโรปตอนเหนือ เช่น เยอรมนี หรือเนเธอร์แลนด์

สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 5 เกิดขึ้นในปี 1958 โดยพลเอกชาร์ลส์ เดอ โกล เพื่อให้ประธานาธิบดีได้รับเสียงข้างมากในรัฐสภาและมีเสถียรภาพ และนั่นได้สร้างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบเผชิญหน้า โดยไม่มีประเพณีฉันทมติและการประนีประนอม

ราฟาเอล กลุคส์มันน์ นักการเมืองฝ่ายซ้ายสายกลาง ซึ่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติในรัฐสภายุโรป กล่าวว่า ชนชั้นทางการเมืองจะต้อง "ทำตัวเหมือนผู้ใหญ่" ด้านนายฌอง-ลุค เมลองชง ผู้นำกลุ่มหัวรุนแรง จากพรรคลาฟร็องแซ็งซูมีซ (LFI) ปฏิเสธการเข้ากลุ่มแนวร่วมของพรรคการเมืองต่างๆ เขากล่าวว่า "นายมาครงมีหน้าที่เรียกร้องให้นิว ป๊อปปูลาร์ ฟรอนต์ มาเป็นรัฐบาล" รวมถึงยืนกรานให้ประธานาธิบดีมาครงยอมรับว่า เขาและพันธมิตรพ่ายแพ้การเลือกตั้งแล้ว

นิว ป๊อปปูลาร์ ฟรอนต์
นิว ป๊อปปูลาร์ ฟรอนต์

...

ส่วนในฝ่ายสายกลาง นายสเตฟาน เซเจอร์น หัวหน้าพรรคเรเนสซองส์ กล่าวว่า เขาพร้อมที่จะทำงานร่วมกับพรรคกระแสหลัก แต่ก็ปฏิเสธข้อตกลงใดๆ กับ LFI ของนายเมลองชง ส่วนอดีตนายกรัฐมนตรี เอดูอาร์ด ฟิลิปป์ ยังได้ปฏิเสธข้อตกลงใดๆ กับพรรคหัวรุนแรงฝ่ายซ้ายอีกด้วย

มาครงเองกล่าวว่า เขาจะรอให้สภาชุดใหม่พบ "โครงสร้าง" บางอย่าง เพื่อตัดสินใจดำเนินการครั้งต่อไป

ช่วงเวลาแห่งการรื้อสร้างทางการเมือง

นายอแลง ดูฮาเมล ผู้คร่ำหวอดในเรื่องการเมืองฝรั่งเศสมาตั้งแต่สมัยอดีตประธานาธิบดีชาร์ลส์ เดอ โกล ระบุว่า "วันนี้ไม่มีพรรคการเมืองใหญ่พรรคเดียวอีกต่อไป นับตั้งแต่นายมาครงขึ้นสู่อำนาจเมื่อเจ็ดปีที่แล้ว พวกเราก็ได้เผชิญกับช่วงเวลาแห่งการรื้อสร้างพลังทางการเมืองต่างๆ"

"บางที ในตอนนี้ พวกเรากำลังเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการสร้างโครงสร้างทางการเมืองขึ้นใหม่"

มารีน เลอ เปน
มารีน เลอ เปน

สิ่งที่ดูฮาเมลหมายความถึงคือ ขณะนี้การเมืองฝรั่งเศสมีพลังทางการเมืองหลายขั้ว ประกอบด้วย กลุ่มอำนาจสำคัญ 3 กลุ่ม ได้แก่ ฝ่ายซ้าย, ขวาจัด และสายกลาง รวมถึงกลุ่มกลางขวาอีกกลุ่ม และในแต่ละกลุ่มก็มีพรรคการเมืองที่แข่งขันกันเองอยู่ด้วย

...

เนื่องจากว่าไม่มีพรรคการเมืองใดที่ครองเสียงข้างมากในรัฐสภา ต่อจากนี้ไปอาจจะต้องใช้ระยะเวลาระยะหนึ่งในการจัดตั้งรัฐบาลผสมจากกลุ่มกลางขวา ไปถึงกลุ่มพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย

จะเกิดอะไรขึ้นหากไม่มีข้อตกลง?

นั่นจะเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนสำหรับฝรั่งเศส รัฐธรรมนูญ ระบุว่า นายมาครงไม่สามารถจัดให้มีการเลือกตั้งรัฐสภาใหม่ได้อีก 12 เดือน ด้านนายกรัฐมนตรี กาเบรียล แอตตัล กล่าวว่า เขาจะยื่นใบลาออกต่อมาครง แต่จะยังคงเป็นรักษาการนายกรัฐมนตรีต่อไปจนกว่าจะได้รัฐบาลชุดใหม่

รัฐธรรมนูญ ระบุว่า นายมาครงตัดสินใจว่าจะร้องขอฝ่ายใดให้จัดตั้งรัฐบาล แต่ใครก็ตามที่เขาเลือก จะต้องได้ผ่านการลงมติไม่ไว้วางใจในรัฐสภา ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นเวลา 15 วัน ในวันที่ 18 กรกฎาคม ซึ่งหมายความว่า มาครงจำเป็นต้องระบุชื่อบุคคลที่เป็นที่ยอมรับของสมาชิกสภานิติบัญญัติส่วนใหญ่

เอ็มมานูเอล มาครง
เอ็มมานูเอล มาครง

มาครงมีแนวโน้มที่จะแยกกลุ่มสังคมนิยมและพรรคกรีนออกจากพันธมิตรฝ่ายซ้าย เพื่อโดดเดี่ยวพรรค LFI เพื่อจัดตั้งกลุ่มแนวร่วมกลางซ้ายกับกลุ่มของเขา อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีวี่แววของการแยกตัวของพรรคนิว ป๊อปปูลาร์ ฟรอนต์ ในขั้นตอนนี้

...

ความเป็นไปได้อีกอย่างหนึ่งคือ การจัดตั้งรัฐบาลเทคโนแครตที่จะจัดการประเด็นต่างๆ แบบรายวัน แต่ไม่ได้ดูแลการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง และไม่ชัดเจนว่ากลุ่มฝ่ายซ้ายจะสนับสนุนสถานการณ์นี้ ซึ่งยังคงต้องการการสนับสนุนจากรัฐสภา.

ที่มา BBCReuters

ติดตามข่าวต่างประเทศเพิ่มเติมที่ https://www.thairath.co.th/news/foreign